xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟ ชูมาตรฐานฟาร์มสุกรชั้นนำ “กรีนฟาร์ม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อกล่าวถึงธุรกิจเกษตร และอาหารชั้นนำในยุคปัจจุบัน หน้าที่สำคัญไม่เพียงแต่ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่ยังต้องคำนึงถึง “ความยั่งยืน” ตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ต้องมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อชุมชนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อม ดังเช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่พัฒนาการดำเนินธุรกิจของตนเองให้เป็นไปในทิศทาง “ธุรกิจสีเขียว” (Green Business) สอดรับต่อกระแสโลกโดยสมบูรณ์

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การเลี้ยงสุกรของซีพีเอฟ ที่มุ่งมั่นปรับปรุงตลอดกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐาน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้างเป็นสำคัญ เพื่อให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย โดยซีพีเอฟเริ่มจากค้นหาแนวทาง และเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์นี้จนพบว่า “มาตรฐานฟาร์มสีเขียว” (Green Farm) คือคำตอบที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

เรื่องนี้ สมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ อธิบายว่า ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ จำนวน 66 แห่งทั่วประเทศ ได้ดำเนินตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียวเต็มรูปแบบ โดยมุ่งพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีกระบวนการเลี้ยงที่ทันสมัยเพื่อผลิตสุกรที่มีคุณภาพภายใต้การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างผ่านการนำเทคโนโลยีที่หลากหลายมาสนับสนุนการเลี้ยงได้เต็มประสิทธิภาพ ด้วย 5 ปัจจัย

ตั้งแต่การเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด ที่ทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำ หรือระบบ Evaporative Cooling System สามารถควบคุมอุณหภูมิ สภาพอากาศ ความชื้น ให้เหมาะสมต่อสุกรแต่ละช่วงวัย ทำให้สัตว์อยู่สบาย และไม่เครียด การใช้ระบบไบโอแก๊ส ตัดกลิ่นออกจากระบบ และแมลงวันที่จะไปรบกวนชุมชน อีกทั้งนำมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในฟาร์ม ระบบการฟอกอากาศท้ายโรงเรือน การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงการปรับฟาร์มให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม

“บริษัทได้พัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนได้มาตรฐานของเราเอง คือ กรีนฟาร์ม ซึ่งเราถือเป็นบริษัทลำดับต้นๆ ของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีทันสมัยมาสนับสนุนกระบวนการเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ยังมีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชนโดยรอบสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน” สมพร กล่าว

ซีพีเอฟ ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบไบโอแก๊สมานานกว่า 10 ปี นอกจากจะช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง แต่ยังสามารถผลิตเป็นพลังงานทดแทนเพื่อใช้ภายในฟาร์ม โดยการนำน้ำเสีย หรือมูลสัตว์ไปรวมยังบ่อรวมน้ำเสีย และปล่อยลงบ่อหมักแบบพลาสติกคลุมบ่อ (Covered Lagoon) เพื่อให้เกิดก๊าซชีวภาพ และนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อทดแทนพลังงานไฟฟ้าภายในฟาร์มได้ถึงร้อยละ 40% คิดเป็นมูลค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ปีละ 114 ล้านบาท

นอกจากนี้ น้ำที่ผ่านการบำบัดระบบไบโอแก๊สได้รับมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษจะถูกนำกลับมาใช้รดต้นไม้ภายในฟาร์ม อีกทั้งบางส่วนจะนำมาผ่านการบำบัดอีกครั้ง และฆ่าเชื้อจนสะอาดเพื่อใช้ล้างทำความสะอาดโรงเรือน อย่างไรก็ตาม น้ำที่ผ่านการบำบัดสามารถนำไปใช้กับพืชผลทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสม จึงมีพี่น้องเกษตรกรในชุมชนใกล้เคียงมาติดต่อขอนำไปใช้ในสวนในไร่ตนเอง ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตได้เป็นอย่างดี

มาตรฐานฟาร์มสีเขียวกลายเป็นโมเดลเลี้ยงสัตว์รักษ์โลกในแบบฉบับของซีพีเอฟ ตั้งแต่ปี 2552 สร้างความมั่นใจต่อสังคม และชุมชน อีกทั้งการดำเนินงานของบริษัทต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย ทั้งของผู้ปฏิบัติงาน และชุมชน เพื่อให้ฟาร์ม และชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข จากความสำเร็จกรีนฟาร์มในฟาร์มหมู ตั้งเป้าต่อยอดทั้งในส่วนของธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัท รวมถึงโรงงานผลิตอาหาร ตอกย้ำ ซีพีเอฟต้นแบบองค์กรแห่งความยั่งยืน สนับสนุนวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” อย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น