xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขุนคว้ารางวัล 5ส ระดับประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขุน ในโครงการส่งเสริมพนมสารคาม กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จำนวน 52 ครอบครัว คว้ารางวัล 5ส ระดับทอง (Golden Awards) จากงานประกวด Thailand 5S Award 2015 จัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. นับเป็นกลุ่มเกษตรกรจำนวนมากที่สุดที่ได้รับรางวัลในเวทีนี้

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อย หรือโครงการฝากเลี้ยงสาขาพนมสารคาม (โครงการส่งเสริมพนมสารคาม) ถือเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพรุ่นบุกเบิกของบริษัท ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ภายใต้การสนับสนุนของซีพีเอฟ เพื่อให้เกษตรกรได้ประกอบอาชีพเลี้ยงหมูที่ช่วยสร้างความมั่นคง และยั่งยืนแก่ชีวิต ปัจจุบัน มีสมาชิกในโครงการรวม 52 ครอบครัว มีจำนวนโรงเรือนเลี้ยงหมูขุนกว่า 100 โรงเรือน ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี แม้ว่าโครงการจะดำเนินมานานกว่า 37 ปีแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรทั้งหมดก็มุ่งมั่นพัฒนาทั้งระบบการบริหารงาน มาตรฐานฟาร์ม กระบวนการเลี้ยงหมูที่ดี เพื่อให้ได้หมูเนื้อมาตรฐานสู่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การที่ฟาร์มหมูจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุขถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ซีพีเอฟ และเกษตรกรจึงร่วมกันคิดวิธีการที่จะพัฒนาปรับปรุงวิชาชีพด้านปศุสัตว์ และช่วยเปลี่ยนมุมมองของสังคมรอบข้างว่าฟาร์มหมูมีมาตรฐาน เป็นมิตรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัทได้นำมาตรฐาน 5ส ไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรทั้ง 1,177 รายทั่วประเทศ ได้ประยุกต์ใช้ในฟาร์มของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาอย่างจริงจัง มีการติดตามผล และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลลัพธ์และความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยมาตรฐาน 5ส ช่วยพลิกโฉมฟาร์มหมูให้กลายเป็นฟาร์มที่น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมภายนอกที่สวยงาม ภายในฟาร์มเป็นไปตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ โดยทุกจุดใช้มาตรฐาน 5ส เป็นตัวกำกับ ทั้งการสะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย

“ระบบ 5ส ถือเป็นระบบธรรรมชาติ เพราะมีองค์ประกอบที่เป็นพื้นฐานสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของเกษตรกรอยู่แล้ว การทำกิจกรรม 5ส อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นนิสัย แล้วถูกถ่ายทอดต่อไปยังครอบครัว คนงาน และคนรอบข้าง ทำให้การดำเนินงานในฟาร์มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิต รายได้ของเกษตรกรก็เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ” นายสมพร กล่าว

ด้าน จ.ส.ท.ธนพงศ์ ใจภักดี หนึ่งในเกษตรกรในโครงการส่งเสริมพนมสารคาม ที่ดำเนินการตามมาตรฐาน 5ส อย่างจริงจัง และตั้งใจ จนถูกยกให้เป็นฟาร์มตัวอย่าง และฟาร์มต้นแบบ 5ส กล่าวว่า ซีพีเอฟถ่ายทอดมาตรฐาน 5ส ให้เกษตรกรนำมาประยุกต์ใช้ในฟาร์มมานานกว่า 10 ปี เพื่อพัฒนามาตรฐานการจัดการฟาร์มให้เป็นสากล โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจ จากนั้นจึงผลักดันให้เกิดฟาร์มเกษตรกรต้นแบบสำหรับให้เพื่อนเกษตรกรเข้ามาศึกษา และได้เห็นตัวอย่างจริงที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เกษตรกรทุกคนภูมิใจที่สามารถพิสูจน์ให้เพื่อนเกษตรกรไทยและสังคมได้เห็นว่า แม้จะเป็นเกษตกรก็สามารถยกระดับมาตรฐานของตนสู่สากลได้ ที่ผ่านมาเกษตรกรในโครงการฯ ต่างมุ่งมั่นดำเนินงานระบบ 5ส อย่างเข้มข้น และสามารถผ่านการตรวจประเมินในรอบเอกสาร รอบการตรวจสภาพหน้างานจากคณะกรรมการพิจารณารางวัล จนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ และคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ ที่สำคัญ 5ส ยังสอนให้เผื่อแผ่ดูแลสังคม และให้รู้จักการเป็นผู้ให้ เกษตรกรทุกคนจึงร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของสังคม ผ่านกิจกรรม 5ส สู่ชุมชน วัด และโรงเรียน ด้วยการนำความรู้ไปถ่ายทอด เพื่อให้เห็นความสำคัญ และประโยชน์ที่จะได้รับ พร้อมสร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง

“มาตรฐาน 5ส ทำให้มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการปฏิบัติงานอย่างเป็นมาตรฐาน ทำการตรวจสอบเป็นประจำ ฟาร์มจึงมีทั้งความสะดวก สะอาด ลดการสูญเสีย มีประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น รายได้จึงมากขึ้น ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามวิถีพอเพียง ที่สำคัญคือ ฟาร์มหมูสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนรอบข้างได้อย่างมีความสุข และยั่งยืน” จ.สท.ธนพงศ์ กล่าว

นอกจากระบบ 5ส แล้ว ซีพีเอฟยังสนับสนุนให้เกษตรกรประยุกต์ใช้เครื่องมือ และมาตรฐานอื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการผลิตให้ดีขึ้น เช่น มาตรฐานกรีนฟาร์มของซีพีเอฟ, KAIZEN, Visual System, FIFO STORAGE, ECRS, Poka-Yoka, Ergonomics เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนนี้มีฟาร์มของบริษัท และเกษตรกรในโครงการส่งเสริมฯของซีพีเอฟ ได้รับรางวัล 5ส ระดับประเทศมาแล้ว เช่น บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด, ฟาร์มสุกรระยอง 2, ฟาร์มจอมทอง, ฟาร์มกาญจนบุรี, ฟาร์มพระแก้ว, หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร, ฟาร์มเกษตรสันติราษฎร์
กำลังโหลดความคิดเห็น