xs
xsm
sm
md
lg

ซื้อขายวันละล้าน! ตลาด “ปลานา-ปลาน้ำจืด” ริมถนนเมืองช้างคึกคักรับปีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตลาดปลานา-ปลาน้ำจืดแหล่งใหญ่ ริมถนน อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ คึกคัก ซื้อขายทั้งปลีกและส่งวันละหลายพันกิโลกรัม มีเงินหมุนเวียนนับล้าน เตรียมรับฉลองเทศกาลปีใหม่   วันนี้ ( 21 ธ.ค.)
สุรินทร์ - ตลาดปลานา-ปลาน้ำจืดแหล่งใหญ่ ริมถนน อ.ชุมพลบุรี เมืองช้างคึกคัก ซื้อขายทั้งปลีกและส่งวันละหลายพันกิโลฯ มีเงินหมุนเวียนนับล้านบาทต่อวันเตรียมรับฉลองเทศกาลปีใหม่ ขณะราคาปลาสดเท่าปีที่ผ่านมาไม่ปรับขึ้น แต่ปลาแห้งปลาแดดเดียวสูงขึ้นเฉลี่ย กก.ละ 100 บาท

วันนี้ (21 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดริมถนนบริเวณแยกทางพาด บ้านหนองวิมานเหนือ ต.กระเบื้อง อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ชุมทางถนนสายสุรินทร์-บุรีรัมย์-ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม และขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายปลานา-ปลาน้ำจืด หลังฤดูเก็บเกี่ยวแห่งใหญ่ของ จ.สุรินทร์ ขณะนี้บรรยากาศการซื้อขายเริ่มคึกคัก ในแต่ละวันมีปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ ที่จับมาจากบ่อน้ำหรือสระน้ำตามทุ่งนานำมาซื้อขายกันวันละหลายพันกิโลกรัม (กก.) มีเงินหมุนเวียนนับล้านบาทต่อวัน

โดยปลาที่นำมาซื้อขายทั้งปลีกและส่ง มีทั้งปลาช่อน ราคา กก.ละ150-190 บาท ตามขนาด, ปลาดุกนา กก.ละ 80-120 บาท, ปลาไหล กก.ละ 200 บาท, ปลาหมอ กก.ละ 40-80 บาท นอกจากนั้นยังมีปลาหลดตากแห้ง กก.ละ 300 บาท ปลาช่อนตากแห้ง ปลาช่อนย่างรมควัน กก.ละ 300 บาท และปลาเนื้ออ่อนตากแห้ง กก.ละ 400 บาท เป็นต้น

พ่อค้าแม่ค้าปลาบอกว่า ปีนี้ปริมาณปลาที่จับได้จากบ่อตามทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เริ่มทยอยนำมาส่งยังตลาดริมทางแห่งนี้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 แล้ว ซึ่งประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนานิยมพากันจอดรถแวะซื้อไปเป็นของฝากญาติพี่น้อง รวมทั้งนำไปประกอบอาหารเลี้ยงฉลองปีใหม่กับครอบครัว

สำหรับราคาปลาแต่ละชนิดไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา ยกเว้นปลาตากแห้งที่มีราคาแพงขึ้นเพราะมีต้นทุนในการแปรรูป ซึ่งราคาสูงขึ้นประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท

ส่วนลูกค้าผู้ที่มาซื้อปลานาปลาน้ำจืดแห่งนี้มีทั้งประชาชนทั่วไป ที่ซื้อไปฝากญาติพี่น้อง รวมทั้งบริโภคในครอบครัว และพ่อค้าแม่ค้าจากจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าปลาน้ำจืดจากตลาดไท จ.ปทุมธานี ที่มาซื้อครั้งละจำนวนมากเพื่อนำไปจำหน่ายต่อตามตลาดต่างๆ นอกจากนั้นมีพ่อค้ารถเร่ที่มาซื้อปลานำไปเร่ขายให้ผู้บริโภคในหมู่บ้านต่างๆ ด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น