xs
xsm
sm
md
lg

ทึ่ง “ข้าวแลกปลา” วิถีชุมชนดั้งเดิมยังเหลืออยู่ในสังคมไทย ที่ตลาดปลาทุ่งกุลาใหญ่สุดอีสานใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาว อ.บรบือ จ.มหาสาคาม พากันขนข้าวสารหอมมะลิ และข้าวเหนียว ด้วยกระบะนำมาแลกเปลี่ยนกับปลาร้านแม่มะลิปลาสด โดยไม่ใช้เงินซื้อขายที่ตลาดปลาทุ่งกุลาร้องไห้ สี่แยกทางพาด อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ คึกคัก วันนี้ ( 31 ม.ค.)
สุรินทร์- ไม่ใช้เงิน! พบ “ข้าวแลกปลา” วิถีแลกเปลี่ยนสินค้าของชุมชนท้องถิ่นแบบดั้งเดิมยังเหลืออยู่ในสังคมไทย ที่ตลาดปลาทุ่งกุลาฯ อ.ชุมพลบุรี เมืองช้าง แหล่งซื้อขายปลานา ปลาน้ำจืดใหญ่ที่สุดในดินแดนอีสานใต้ เผยสะพัดปีละกว่า 200 ล้าน พ่อค้าแม่ค้าทำรายได้ถึงวันละ 2-3 หมื่นต่อราย

วันนี้ (31 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดปลาทางพาด หรือตลาดปลาทุ่งกุลาฯ บริเวณสี่แยกทางพาด บ้านหนองพิมานเหนือ ต.กระเบื้อง อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นตลาดริมทางแหล่งซื้อขายปลานา ปลาน้ำจืดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานตอนล่าง หรืออีสานใต้ พบมีชาวบ้านจำนวนมากเดินทางมาจาก อ.บรบือ จ.มหาสาคาม พากันขนข้าวสารเจ้าหอมมะลิ และข้าวสารเหนียว ด้วยรถยนต์กระบะหลายคันรถมาจอดบริเวณด้านหน้าร้าน “แม่มะลิปลาสด” กันอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ เพื่อนำข้าวเหนียว และข้าวเจ้าหอมมะลิมาแลกกับปลาช่อน และปลาดุก ไปประกอบอาหารรับประทานในครอบครัว ซึ่งเป็นวิธีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่แตกต่างไปจากร้านขายปลาสดริมถนนทางหลวงแห่งนี้ที่มีอยู่กว่า 70 ร้าน ตลอดสองข้างถนนเป็นระยะทางยาวกว่าครึ่งกิโลเมตรอย่างสิ้นเชิง

ร้าน “แม่มะลิปลาสด” เป็นเพียงร้านเดียวที่ยังคงใช้วิถีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันสินค้า และอาหารแบบชุมชนดั้งเดิมในการพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกันที่สืบทอดมาแต่อดีตกาลของสังคมไทย จนหลายคนเคยได้ยิน และคุ้นเคยคำว่า เกลือแลกข้าว ,ข้าวแลกปลา ปลาแลกข้าว เป็นต้น

ตลาดปลาสดริมถนนทางหลวงแห่งนี้ เป็นแหล่งซื้อขายปลาน้ำจืด ปลานา จากธรรมชาติ อันเป็นผลผลิตจากท้องทุ่งหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จสิ้น เกษตรกรพากันสูบน้ำเพื่อจับปลาจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในสระ หรือหนองน้ำตามแปลงนาของตัวเองในทุ่งกุลาร้องไห้อันกว้างใหญ่ขึ้นมาขาย ทั้งปลาช่อน ปลาดุก ปลาไหล ปลาหมอ ปลาซิว ปลาสร้อย และปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ รวมไปถึงปลาตากแห้งหลากหลายชนิด โดยขายทั้งปลีก-ส่งในราคาที่ผู้ซื้อผู้ขายสามารถต่อรองได้อย่างเป็นกันเอง

นางบุญเลี้ยง เตียงดี อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 32 ม.19 ต.โนนแดง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม กล่าวว่า นำข้าวเหนียว และข้าวเจ้าหอมมะลิมาแลกปลาดุก ปลาช่อน นำไปประกอบอาหารเลี้ยงครอบครัว ซึ่งแม่ค้าปลาตีราคาให้ ข้าวเหนียวกิโลกรัม ละ 25 บาท ข้าวเจ้ากิโลกรัม ละ 30 บาท

ขณะ นางฉวี เทียงแสง อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 ม.19 ต.โนนแดง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม กล่าวว่า นำข้าวเหนียว จำนวน 23 กิโลกรัม มาแลกปลาช่อนได้ปลา 5 ตัว น้ำหนักรวม 3 กิโลกรัม จากปกติแม่ค้าขายปลาช่อนสดกิโลกรัมละ 120 บาท ตนและญาติพี่น้องพากันเดินทางนำข้าวมาแลกปลาหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวเป็นประจำทุกปี และมีร้าน “แม่มะลิปลาสด” เพียงเจ้าเดียวที่รับแลก ส่วนร้านอื่นไม่รับแลก

ทางด้าน นางมะลิ งามแสง อายุ 60 ปี เจ้าของร้านแม่มะลิปลาสด กล่าวว่า ตนไม่ได้ทำนาปลูกข้าว ประกอบอาชีพขายปลาอย่างเดียวมานานกว่า10 ปีแล้ว จึงคิดว่าชาวนามีข้าว ตนมีปลา ก็เอามาแลกกันโดยไม่จำกัดปริมาณ ชาวนามีข้าวเท่าไรก็นำมาแลกปลาได้ทุกวันที่ร้านแม่มะลิปลาสดแห่งนี้

ด้าน นายชัยยันต์ โพธิ์ขนาบ ประธานตลาดปลาทุ่งกุลา กล่าวว่า ตลาดปลาทุ่งกุลา บ้านหนองพิมานเหนือ ต.กระเบื้อง อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เกิดขึ้นจากชาวบ้านแต่ละครอบครัวต่างพากันสูบน้ำจับปลาขึ้นจากหนองน้ำในนา แล้วนำมานั่งขายข้างถนน กลายเป็นจุดเริ่มต้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีการตั้งเพิงขายปลากว่า 70 ร้าน ล่าสุด ปีที่ผ่านมามีเงินสะพัดประมาณ 200 ล้านบาท ทุกร้านขายปลาที่ได้มาจากแหล่งธรรมชาติ ตนเป็นพ่อค้าคนกลางให้ทุนชาวบ้านไปสูบน้ำจับปลามาชั่งกิโลฯ ขาย ส่วนมากเป็นปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ซึ่งล้วนเป็นปลาธรรมชาติทั้งหมดเลย

นายชัยยันต์ กล่าวต่อว่า วิถีข้าวแลกปลา ปลาแลกข้าวนั้น เมื่อคนที่ราบสูงทำนาข้าวเหนียว ได้ข้าวจะนำมาแลกปลา หรือแลกเปลี่ยนกัน ปกติร้านอื่นขายปลาเป็นเงิน แต่ร้านแม่มะลิปลาสดนั้น ได้ช่วยวิธีแลกเปลี่ยนสินค้ากันด้วย ซึ่งในแต่ละร้านมีรายได้มากน้อยขึ้นกับลูกค้าประจำ บางเจ้ามีรายได้ถึง 20,000-30,000 บาทต่อวัน ลูกค้าส่วนใหญ่มีออเดอร์มาจากตลาดไทย ตลาดคลองเตย กรุงเทพฯ ตลาดค้าส่งสุระนคร จ.นครราชสีมา รวมถึง จ.อุดรธานี จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และ จ.มหาสารคาม นิยมมาซื้อปลาน้ำจืดจากธรรมชาติที่ตลาดแห่งนี้

“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ใครที่ต้องการปลานาธรรมชาติ 100% ให้มาเลือกซื้อที่ตลาดปลาทางพาด หรือตลาดปลาทุ่งกุลา บ้านหนองพิมานเหนือ ต.กระเบื้อง อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายปลาใหญ่ที่สุดในภาคอีสานตอนล่างแห่งนี้ ได้ตลอดเวลา มีปลาขายทุกวัน ตามฤดูกาลช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ส่วนราคาขึ้นลงแล้วแต่ปริมาณปลามากน้อย ซึ่งสามารถต่อรองราคาได้แบบเป็นกันเอง หากมาไม่ถูกโทรศัพท์มาสอบถามได้ที่หมายเลข 08-8341-7779” นายชัยยันต์ กล่าวในตอนท้าย











กำลังโหลดความคิดเห็น