ซีพีเอฟ ผลักดันโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ” เดินหน้าปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการซีพีเอฟ สร้างความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ พร้อมนำองค์ความรู้การประเมินมูลค่าของระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Services : PES) มาใช้นำร่องในสถานประกอบการ 4 แห่ง โดยในปี 2558 มีมูลค่าของระบบนิเวศรวมกว่า 4.4 ล้านบาท ตั้งเป้าขยายโครงการสู่ฟาร์ม และโรงงาน 150 แห่งทั่วประเทศ
นายสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ดินน้ำป่าคงอยู่” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืนของซีพีเอฟ ภายใต้เป้าหมายปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยเริ่มดำเนินโครงการ ในปี 2557 เพื่อต่อยอดการสร้างพื้นที่สีเขียวภายในสถานประกอบการของซีพีเอฟทั้งโรงงาน และฟาร์ม โดยพัฒนาระบบรวบรวมข้อมูลการวัดผลเชิงระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านสิ่งแวดล้อม และความคุ้มค่าต่อการลงทุน สร้างต้นแบบสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน
“ซีพีเอฟได้รวบรวมข้อมูลการดำเนินโครงการในแต่ละโรงงาน และฟาร์ม เพื่อนำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลการปลูกต้นไม้ โดยจัดทำโปรแกรมระบบสำหรับรวบรวมพื้นที่ ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน การวัดผลด้านระบบนิเวศ พร้อมจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความรู้ สามารถเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมต่อสถานที่ตั้งของโรงงาน และฟาร์ม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ” นายสุธี กล่าว
ในปี 2557 ซีพีเอฟนำร่องโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศในสถานประกอบการ 4 แห่ง ได้แก่โรงงานอาหารสัตว์ปักธงชัย จังหวัด นครราชสีมา, ฟาร์มสุกร จังหวัด กาญจนบุรี, ฟาร์มไก่บ้านธาตุ จังหวัด สระบุรี และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จังหวัดสระบุรี โดยมีผลการเก็บวัด และวิเคราะห์ข้อมูลมูลค่าทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดูดซับ และเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ที่ปลูก มูลค่าทางสิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วยการให้ธาตุอาหารหลักแก่ดิน จากการร่วงหล่น และสลายตัวของซากพืช การให้ร่มเงาที่ลดความรุนแรงของพลังงานจากดวงอาทิตย์ และอุณหภูมิอากาศ และการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีมูลค่าของระบบนิเวศรวมกว่า 4.4 ล้านบาท
นายพิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศว่า หมู่บ้านได้เข้าร่วมโครงการในปี 2557 โดยผู้บริหารซีพีเอฟ พนักงาน ชาวบ้านในหมู่บ้านฯ และชุมชนได้ร่วมแรงร่วมใจกันปลูกสวนป่า จำนวน 30 ไร่ ณ บริเวณศูนย์เรียนรู้สวนป่าชุมชนเฉลิมพระเกียรติในฟาร์มเลี้ยงสุกร โครงการนี้สร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากชุมชนได้สนับสนุนพันธุ์ไม้ ร่วมกันปลูก ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดูแลต้นไม้ร่วมกับซีพีเอฟตั้งแต่เริ่มโครงการ ทำให้เกิดความรัก และหวงแหนป่าไม้
นอกจากนี้ ยังได้จัดอบรมยุวชนเพื่อเป็นมัคคุเทศก์ตัวน้อยประจำศูนย์เรียนรู้สำหรับนำผู้สนใจทั่วไป หรือชุมชนใกล้เคียงมาเยี่ยมชมโครงการแล้วกว่า 1,300 คน ซึ่งจากการประเมินมูลค่าระบบนิเวศในโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ปี 2558 พบว่า มีมูลค่าระบบนิเวศสูงถึง 6.2 แสนบาท สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,488 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
“โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศเป็นกิจกรรมที่ช่วยปลูกฝังค่านิยมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากเด็กๆ ได้ลงมือปลูกป่าด้วยตัวเองแล้ว ยังเป็นผู้นำชมโครงการอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องพืชพันธุ์ไม้หายาก แหล่งเรียนรู้การปลูกป่าเชิงนิเวศ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จากความตั้งใจจริงของซีพีเอฟในการดำเนินโครงการนี้ทำให้เกิดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม ชุมชนมีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม พร้อมที่จะให้การสนับสนุนขยายผลการำเนินงาน และสร้างเครือข่ายป่าชุมชน” นายพิเชษฐ์ กล่าวเสริม
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้วางแผนต่อยอดโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือผ่านการประสานงานกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) และผู้เชี่ยวชาญ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงนำระบบไอทีมาใช้ในการรวบรวมข้อมูลกระบวนการวัดการเจริญเติบโตของต้นไม้ และการให้บริการระบบนิเวศ สามารถเชื่อมโยงข้อมูล นำมาวิเคราะห์วางแผนเพื่อต่อยอดโครงการได้เป็นอย่างดี
โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร เป็นหมู่บ้านที่ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ สานต่อความสำเร็จจากหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ที่น้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 บนพื้นที่ 4,000 ไร่ ครอบคลุม 2 ตำบล คือ ต.เทพนคร และ ต.คณฑี อ.เมือง จ.กำแพงเพชร จัดสรรที่ดินให้เกษตรกร ทั้งเจ้าของที่ดินเดิม และเกษตรกรยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสุกร ปัจจุบัน เกษตรกรในหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง จนได้รับการยกย่องให้เป็น “หมู่บ้านสามัคคี เทคโนโลยีทันสมัย” เกษตรกรรักษาวิถีเกษตรกรไทย อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน