กาฬสินธุ์ - แม่น้ำชีส่อวิกฤตแล้งหลังปริมาณฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ และปริมาณน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้อย เตือนงดปลูกข้าวนาปรัง พร้อมขอความร่วมมือแพสูบน้ำงดสูบน้ำ เนื่องจากต้องสงวนน้ำไว้อุปโภค บริโภค
วันนี้( 8 ธ.ค.) นายเกริกกรุง สุภัควนิช ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง สำนักชลประทานที่ 6 นายออน วิศาลอาชีวะเจริญ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน นายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 (เขื่อนวังยาง) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชี บริเวณเขื่อนระบายน้ำวังยาง อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
หลังพบว่าปัจจุบันปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่านเขื่อนระบายน้ำต่างๆ ต่ำกว่าเกณฑ์ และระดับน้ำกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะแล้งเร็วกว่าปกติ และอาจจะยาวนานออกไป หากฝนไม่ตกลงมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 หรือเดือนมิถุนายน 2559
ทั้งนี้ สาเหตุเกิดจากปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่โดยรอบแม่น้ำชีทั้งใน จ.ชัยภูมิ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นทุนน้ำของแม่น้ำชีมีน้อยและต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติประมาณมากถึง 30% ประกอบกับเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนอีกแห่งหนึ่งที่ระบายลงสู่แม่น้ำชีก็มีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียง 781 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32% ซึ่งเป็นน้ำที่ใช้การได้เพียง 200 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 8% เท่านั้น
ปัจจุบันระบายลงสู่แม่น้ำชีเพื่อหล่อเลี้ยงระบบนิเวศและให้ประชาชนอุปโภค บริโภคเฉลี่ยวันละ 500,000 ลบ.ม.
นายเกริกกรุง สุภัควนิช ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง สำนักชลประทานที่ 6 กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลางรับผิดชอบบริหารจัดการฝายระบายน้ำ หรือเขื่อนระบายน้ำ 4 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนชนบท จ.ขอนแก่น เขื่อนมหาสารคาม จ.มหาสารคาม เขื่อนวังยาง จ.กาฬสินธุ์ และเขื่อนร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด
สถานการณ์น้ำปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่านฝายต่างๆ ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยกว่าทุกปี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมีน้อย ประกอบกับเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนที่ระบายลงสู่แม่น้ำชีมีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียง 781 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32% และเป็นน้ำที่ใช้การได้เพียง 200 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 8%เท่านั้น
สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำชีประสบกับภาวะแล้งเร็วกว่าปกติ และอาจจะยาวนานหากฝนไม่ตกลงมาในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือไปยังพี่น้องเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรสองฝั่งแม่น้ำชี เริ่มตั้งแต่เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง และเขื่อนร้อยเอ็ด งดปลูกข้าวนาปรัง พร้อมกับขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ที่มีแพสูบน้ำอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำชีที่มีอยู่ปัจจุบันกว่า 200 แห่ง งดสูบน้ำขึ้นไปทำนาปรังอย่างเด็ดขาด เพราะต้องสงวนน้ำไว้อุปโภคบริโภคจนถึงฤดูฝน