xs
xsm
sm
md
lg

“แม่น้ำชี” กาฬสินธุ์วิกฤต แล้งหนักสุดในรอบ 20 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจุบันปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่านเขื่อนวังยางต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอย่างมาก และระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะแล้งเร็วกว่ากำหนด 2 เดือน แล้งหนักสุดในรอบ 20 ปี
กาฬสินธุ์ - แม่น้ำชีวิกฤต แล้งหนักสุดในรอบ 20 ปี หลัฝนตกต้นน้ำ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ต่ำกว่าเกณฑ์ วอนใช้น้ำอย่างประหยัด งดปลูกข้าวนาปรัง

วันนี้ (4 พ.ย.) นายเกริกกรุง สุภัควนิช ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง นายปิยปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว พร้อมด้วยนายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 (เขื่อนวังยาง) นายออน วิสาอาชีวเจริญ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชี บริเวณเขื่อนระบายน้ำวังยาง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ หลังปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่านเขื่อนวังยางต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอย่างมาก และระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะแล้งเร็วกว่ากำหนด 2 เดือน และแล้งหนักสุดในรอบ 20 ปี

สาเหตุเกิดจากปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำชีน้อยกว่าทุกปี ประกอบกับเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนของแม่น้ำชี มีปริมาณน้ำเหลือน้อยอยู่เพียง 49% เท่านั้น

นายเกริกกรุงกล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง รับผิดชอบฝ่ายระบายน้ำ หรือเขื่อนระบายน้ำ 4 แห่ง ประกอบด้วย ฝ่ายชนบท จ.ขอนแก่น ฝ่ายมหาสารคาม จ.มหาสารคาม ฝ่ายวังยาง จ.กาฬสินธุ์ และฝ่ายร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด โดยแม่น้ำชีมีน้ำต้นทุนจากเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และฝนที่ตกลงมาในพื้นที่

ปัจจุบันพบว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่านฝายต่างๆ ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เช่น ฝายวังยาง จากเดิมมีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี แต่ปัจจุบันมีเพียง 1,700 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์อย่างมาก สาเหตุเกิดจากปริมาณฝนในพื้นที่น้อยไม่ถึง 60% โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ขอนแก่น ประกอบกับเขื่อนอุบลรัตน์ก็ประสบปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียง 49% ไม่สามารถส่งน้ำได้เหมือนเดิม จึงทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำชีลดลงอย่างรวดเร็ว

ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่รอบแม่น้ำชีประสบกับภาวะแล้งเร็วกว่ากำหนด 2 เดือน และจะประสบกับภาวะวิกฤตแล้งอย่างรุนแรงหนักสุดในรอบ 20 ปี จึงขอความร่วมมือเกษตรกรตั้งแต่ฝ่ายชนบทถึงฝายวังยางงดปลูกข้าวนาปรังเพราะใช้น้ำมาก และร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ให้เกิดคุณค่ามากที่สุด

ส่วนพื้นที่ตั้งแต่ฝายวังยาง จ.กาฬสินธุ์ ต่อไปยังฝ่ายร้อยเอ็ด ผ่านไปถึง จ.ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นลุ่มน้ำชีตอนล่าง ต้องติดตามสถานการณ์ไปก่อน เพราะต้องรอเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ส่งน้ำมาช่วยจึงจะปลูกข้าวนาปรังได้
สาเหตุระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วเกิดจากปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่จ.ชัยภูมิ และจ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำชีน้อยกว่าทุกปี ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นน้ำทุนของแม่น้ำชีประสบกับภัยแล้งปริมาณน้ำเหลือน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น