xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านฮือค้าน ชลประทานร้อยเอ็ดปล่อยน้ำห้วยแอ่งทิ้ง หวั่นน้ำไม่พอใช้ช่วงทำนาปรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มหาสารคาม - ชาวบ้าน 5 หมู่บ้านเขตรอยต่อมหาสารคาม-ร้อยเอ็ด นัดชุมนุมคัดค้านชลประทานร้อยเอ็ด ปล่อยน้ำจากอ่างห้วยแอ่งทิ้ง หวั่นช่วงนาปรังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เรียกร้องออกมาชี้แจงหรือสั่งผู้รับเหมาหยุดขุดลอกจนกว่าจะเข้าหน้าแล้ง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (16 ก.ย.) ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยแอ่ง ต.ห้วยแอ่ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ตัวแทนชาวบ้าน 5 หมู่บ้านรอยต่อ จ.มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ด ประกอบด้วย ต.โนนภิบาล ต.หนองกุง อ.แกดำ ต.ท่าตูม ต.ห้วยแอ่ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม บ้านโนนสังข์ บ้านสีแก้ว บ้านโนนกุง ต.โพธิ์ชัย อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ที่ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งกว่า 3 หมื่นไร่ ชุมนุมประท้วงชลประทานจังหวัด ให้หยุดปล่อยน้ำออกจากห้วยแอ่ง พร้อมป้ายเขียนข้อความ เช่น คสช.ช่วยด้วย, ชลประทานปล่อยน้ำทิ้ง, น้ำพ่อหลวงของเรา, เราต้องการน้ำ เป็นต้น

เนื่องจากชลประทานได้ปล่อยน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งทิ้ง ไม่กักเก็บไว้ให้เกษตรกรทำนาปรัง เพราะช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีฝนตกแต่ก็ตกเล็กน้อย และอีกไม่กี่สัปดาห์ก็หมดฤดูฝนแล้ว จึงขอให้ชลประทานร้อยเอ็ดระงับการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ โดยให้เริ่มโครงการใหม่ในช่วงฤดูแล้ง

นายคำพันธ์ ยโส ตัวแทนเกษตรกรผู้ใช้น้ำพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ชลประทานร้อยเอ็ดได้ว่าจ้างให้บริษัทรับเหมามาขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการขุดอยู่ทั้งที่เป็นหน้าฝน โดยทางชลประทานได้ปล่อยน้ำออกสู่คลองชลประทาน ไม่ได้มีการเก็บกักน้ำไว้ ทำให้ชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งได้รับผลกระทบ คือไม่สามารถหาปลาเลี้ยงชีพได้

ที่น่าวิตกไปมากกว่านั้นคือ หวั่นว่าช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงน้ำจะไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง หรือปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะมีเกษตรกรใช้ประโยชน์ร่วมกันจำนวนมาก พื้นที่การเกษตรมากกว่า 30,000 ไร่ จึงอยากให้ทางชลประทานร้อยเอ็ดออกมาชี้แจง หรือสั่งให้ระงับการขุดลอกออกไปก่อน รอจนหน้าแล้งค่อยขุดลอกใหม่ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในอ่างอย่างเต็มที่

นายดำรงค์ อุดมเดช ตัวแทนเกษตรกร 5 ตำบล กล่าวว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งเหลือน้อยแล้ว เนื่องจากชลประทานปล่อยน้ำออกเพื่อทำการขุดลอก ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านไม่มีน้ำทำนาปรังหลังจากเก็บเกี่ยวนาปีช่วงเดือนพฤศจิกายน เพราะปกติช่วงกลางเดือนธันวาคมเกษตรกรก็จะเริ่มไถหว่านนาปรังแล้ว จึงอยากให้กักเก็บไว้มากกว่าที่จะปล่อยทิ้งไปเปล่าประโยชน์


กำลังโหลดความคิดเห็น