xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวร้าย! เกษตรกรเมืองน้ำดำต้องทำใจ เตรียมเผชิญภัยแล้งอย่างน้อย 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผลกระทบจากเขื่อนอุบลรัตน์  เขื่อนจุฬาภรณ์  และเขื่อนลำปาว ต้นน้ำของแม่น้ำชี  มีปริมาณน้ำน้อยไม่ถึงร้อยละ 50 ของความจุอ่างโดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ ที่มีน้ำเหลือน้อยกว่าทุกปี  ทำให้เขื่อนลำปาวที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์
กาฬสินธุ์ - ผอ.โครงการบำรุงและรักษาเขื่อนลำปาว ชี้สัญญาณเตือนเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เตรียมรับมือภัยแล้งอย่างน้อย 6 เดือน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย และยังต้องปล่อยหล่อเลี้ยงสายน้ำธรรมชาติ และแม่น้ำชี เพื่อรักษาระบบนิเวศ และช่วยเหลือพื้นที่ท้ายเขื่อน 3 จังหวัดในแถบลุ่มแม่น้ำชีที่ประสบภัยแล้ง

ผลกระทบจากภาวะ 3 เขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วย เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาว ต้นน้ำของแม่น้ำชี มีปริมาณน้ำน้อยไม่ถึงร้อยละ 50 ของความจุอ่าง โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ปรากฏว่ามีน้ำเหลือน้อยกว่าทุกปี ทำให้เขื่อนลำปาวที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ หรือปริมาตร 892 ล้าน ลบ.ม. ต้องช่วยระบายน้ำลงแม่น้ำที่มีระยะทางยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร

นายปิยปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการโครงการบำรุงและรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่อ่างเก็บน้ำต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดน้อยลงซึ่งจะส่งผลระยะยาวในการปล่อยน้ำในฤดูแล้งที่จะถึงในอีก 1 เดือนข้างหน้า ทำให้สถานการณ์การใช้น้ำในฤดูแล้งที่จะถึงนี้น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ท้ายเขื่อนลำปาวที่เคยปลูกข้าวนาปรัง เลี้ยงปลาและกุ้งก้ามกราม

นายปิยปัญญากล่าวอีกว่า เขื่อนลำปาวมีพื้นที่ให้บริการน้ำสำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้ง 114,000 ไร่ แยกเป็นปลูกข้าวนาปรัง 109,300 ไร่ บ่อปลา 1,431 ไร่ บ่อกุ้งก้ามกราม 2,931 ไร่ พืชไร่พืชสวน 356 ไร่ซึ่งจะสร้างรายได้มากกว่า 2,134,000,000 บาท แต่เนื่องจากปีนี้ประสบภาวะฝนทิ้งช่วง เขื่อนอุบลรัตน์ที่ จ.ขอนแก่น และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำเหลืออยู่น้อยไม่พอหล่อเลี้ยงแม่น้ำชีและพื้นที่ที่แม่น้ำปาวไหลไปบรรจบพื้นที่ด้านล่างในเขต จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร และสิ้นสุดที่ จ.อุบลราชธานี จึงเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นที่เขื่อนลำปาวจะต้องกันน้ำจากการเกษตรเพื่อเลี้ยงคลองรักษาระบบนิเวศและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน 3 จังหวัดที่แม่น้ำชีไหลผ่านดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค

อย่างไรก็ตาม หากปริมาณน้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์ ในปลายเดือนตุลาคมนี้ไม่สูงขึ้น จึงเป็นความจำเป็นที่เกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ ที่เคยทำนาปรัง เลี้ยงปลาและกุ้งก้ามกราม ต้องลดพื้นที่และเตรียมรับมือภาวะขาดแคลนน้ำแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นซึ่งอาจจะเกิดภาวะภัยแล้งต่อเนื่องยาวนานถึง 6 เดือน หรือถึงเดือนพฤษภาคม 2559
นายปิยปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการโครงการบำรุงและรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์




กำลังโหลดความคิดเห็น