xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอด! นักวิจัย มน.เพาะเนื้อเยื่อ “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80” ไร้ไวรัสสำเร็จเจ้าแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - นักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80” แบบไร้ไวรัสสำเร็จเป็นแห่งแรกของไทยแล้ว ยันปลูกได้ทั้งพื้นราบ-แปลงไฮโดรโปรนิกส์

วันนี้ (2 ธ.ค.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากได้ทำการวิจัยสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมานานกว่า 2 ปี เพื่อทำการคัดเลือกต้นพันธุ์ให้มีมาตรฐาน และปราศจากไวรัส สามารถนำมาปลูกในพื้นที่ราบ ขยายผลผลิตที่มีคุณภาพของเกษตรกรได้เป็นผลสำเร็จแล้ว

โดยทางคณะวิจัยได้นำต้นพันธุ์ที่มีลักษณะลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง ให้ผลผลิตปริมาณมาก และปราศจากการเข้าทำลายของโรคและแมลงมาดำเนินกรรมวิธีในตู้ปลอดเชื้อ เริ่มจากตัดบริเวณปลายยอดของไหลขนาด 2-3 เซนติเมตร พร้อมกับตัดแต่งใบขนาดเล็กบริเวณปลายยอดออก แล้วนำมาล้างด้วยน้ำประปาแบบไหลผ่านเป็นเวลา 45 นาที จากนั้นนำปลายยอดไปจุ่มลงในสารละลายฆ่าเชื้อโซเดียมไฮโปคลอไรด์ ที่ความเข้มข้น 2% เป็นเวลา 10 นาที ก่อนนำไปล้างด้วยน้ำกลั่นทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งละ 5 นาที

จากนั้นทำการตัดแต่งปลายยอดอีกครั้ง พร้อมกับตัดส่วนเนื้อเยื่อเจริญปลายยอด ภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอ แล้วนำชิ้นส่วนปลายยอดขนาด 0.2 cm ที่ได้จาการตัดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ วางลงบนสูตรอาหาร ประกอบไปด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต เช่น ไซโตไคนิน และออกซิน น้ำตาลปริมาณ และผงวุ้น แล้วทำการปรับสูตรอาหาร ก่อนที่จะนำไปผ่านการฆ่าเชื้อด้วย จากนั้นนำพืชไปเพาะเลี้ยงที่อุณหภูมิ 25-27 องศาเซลเซียส นำต้นพันธุ์ที่ได้มาทำการปรับสภาพภายในโรงเรือน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พีระศักดิ์กล่าวอีกว่า ผลการทดลองพบว่าสตรอว์เบอร์รีมีอัตราการอยู่รอดสูงที่สุด และสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหญ่ และให้ผลผลิตที่สูงต่อไป ถือว่าเป็นพืชผลไม้ที่กำลังเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ มักมีประชาชนโดยเฉพาะบนพื้นที่สูงนำไปปลูก ส่งขายสร้างรายได้ถึงกิโลกรัมละ 400-500 บาท โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว กำลังออกผลผลิตกันหลายพื้นที่

“ต้นสตรอว์เบอร์รีที่ผ่านการวิจัยเป็นต้นที่ทนต่อโรค ให้ผลผลิตที่ดี สามารถนำมาปลูกพื้นที่ราบได้ นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถนำไปปลูกในแปลงไฮโดรโปรนิกส์ได้อีกด้วย ถือว่าเป็นการพัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแบบไร้ไวรัสเป็นผลสำเร็จ เรียกว่าที่เดียวของประเทศไทย ซึ่งเกษตรกรสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร”




กำลังโหลดความคิดเห็น