ศูนย์ข่าวศรีราชา - “ชลบุรี” เร่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการจราจรพื้นที่แหลมฉบัง-หนองขาม หลังสถานการณ์บริเวณดังกล่าวค่อนข้างวิกฤต
นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวถึงสถานการณ์การจราจรในพื้นที่บริเวณแหลมฉบัง-หนองขาม จังหวัดชลบุรี หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน และผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ว่า มีปัญหาสร้างผลกระทบ และสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ที่สัญจรผ่านไปมาเป็นอย่างมาก และที่สำคัญเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ลงมาในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และทราบปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับให้ทางจังหวัดเร่งวางแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน
ล่าสุด จังหวัดได้มีการจัดตั้งคณะทำงานประสานและดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณดังกล่าว โดยมี นายภวัต เลิศมุกดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ผู้แทนกรมทางหลวง ผู้แทนแขวงทางหลวงชลบุรี 1-2 ผู้แทนกองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจทางหลวง นายอำเภอศรีราชา ผู้แทนการท่าเรือแหลมฉบัง ผู้แทนเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ปลัดเทศบาลนครแหลมฉบัง ฯลฯ
สำหรับคณะทำงานชุดดังกล่าวมีหน้าที่กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาจราจร การขนส่ง และลอจิสติกส์ โดยกำกับ ดูแล และเร่งรัดการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานงานการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการและแผนงาน/โครงการที่กำหนด พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดให้ประชาชนได้รับทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ
นายคมสัน กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีปัญหาการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 โดยบริเวณอื่นไม่ค่อยมีปัญหาแล้ว แต่มีปัญหาบริเวณที่แยกเข้าท่าเรือแหลมฉบังตอน 1, 2 และ ตอน 3 ยังไม่แล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้ แต่โครงการมีความคืบหน้าไปมากแล้ว คาดว่าปลายปี 2558 หรือ ม.ค.2559 นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่โครงการไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์จึงต้องวางแผนในช่วงนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว
สำหรับปัญหาที่หน้าหนักใจในขณะนี้ คือ เส้นทางเข้าสู่การท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีโครงการขยายและปรับปรุงเส้นทางการจราจรภายในท่าเรือเช่นกัน แต่ไม่สอดรับต่อโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ที่เข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะแล้วเสร็จอีกไม่นาน แต่ของการท่าเรือแหลมฉบัง โครงการกว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณ ก.พ.2560 ดังนั้น จึงต้องมาวางแผนบริหารจัดการดังกล่าวเพื่อไม่ให้การจราจรติดขัด เพราะจากสถิติรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เข้าท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 10,000 คันต่อวัน ซึ่งสูงมาก ซึ่งยังไม่เกี่ยวกับรถของพนักงานท่าเรือ ศุลกากร การนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และผู้ประกอบการ และพนักงานเอกชนในท่าเรือแหลมฉบังที่มีเป็นจำนวนมากด้วย
“ขณะนี้จะต้องหาเส้นทางเลี่ยง หรือเส้นทางรองเพื่อแยกรถขนาดเล็กไม่ให้ไปรวมกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ หรือเทรลเลอร์ นอกจากนั้น จะต้องลดปริมาณรถของข้าราชการ และพนักงานที่เข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งขณะนี้ทราบว่าทางเทศบาลนครแหลมฉบัง เข้าไปแก้ไขปัญหาโดยจัดสรรงบประมาณ 20 ล้านบาท ทำเส้นทางสายรองบริเวณคลองบ้านนาที่อยู่บริเวณด้านหลังสามารถเข้าออกท่าเรือแหลมฉบังได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง” นายคมสัน กล่าว
นายคมสัน กล่าวว่า นอกจากนั้นต้องมีการติดป้ายแจ้งเตือนผู้ที่ใช้เส้นทางให้หลบเลี่ยงเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่นให้ไปใช้เส้นทางรอง เพื่อไม่ให้การจราจรแออัด หรือติดขัด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ส่วนเส้นทางรองที่มีการชำรุดเสียหายก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เข้าไปแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยทุกๆ ฝ่ายจะต้องร่วมมือช่วยแก้ไขปัญหา