เชียงราย - กลุ่มชนเผ่าลุ่มน้ำแม่คำ และลุ่มน้ำสาขา รวมตัวตั้งป้องต้านกรมชลฯ สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำคำ ชี้มีทางเลือกอื่นอีกมากแต่ไม่ทำ กลับดันโครงการใหญ่ แถมพิกัดที่ตั้งใกล้รอยเลื่อนแม่จัน และเสี่ยงกระทบผืนป่าฟื้นฟูใหม่พื้นที่ติดต่อโครงการดอยตุงฯ อีก
วันนี้ (12 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านพื้นที่ลุ่มแม่น้ำคำ ต.แม่สลองใน ต.เทอดไทย และ ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เริ่มรวมกลุ่มจัดกิจกรรมต่อต้านโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำคำ บางหมู่บ้านได้ขึ้นป้ายผ้าระบุข้อความคัดค้าน และมีการประชุมแกนนำเพื่อเตรียมคัดค้านอย่างต่อเนื่อง เพราะกังวลว่าจะถูกเวนคืนที่ทำกิน และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
หลังจากกรมชลประทานส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดประชุมให้ข้อมูลแก่ประชาชน ว่าจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำกั้นแม่น้ำคำที่ไหลมาจากต้นน้ำบ้านหัวแม่คำ ต.แม่สลองใน ผ่าน ต.เทอดไทย ต.แม่ฟ้าหลวง ต.ศรีค้ำ ต.แม่คำ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งจุดที่เป็นทางเลือกในการสร้างเขื่อนกั้นน้ำคือ พื้นที่บ้านปางพระราชทาน ม.15 ต.แม่ฟ้าหลวง และพื้นที่ใกล้เคียง
นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ผู้อำนวยการสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอาข่าเชียงราย ในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายชาวบ้านลุ่มแม่น้ำคำ กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำคำเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2558 โดยมีการจัดประชุมปฐมนิเทศ และประชุมย่อยแล้วหลายครั้ง
แต่ชาวบ้านที่อยู่เหนือจุดก่อสร้างเขื่อนที่อยู่ในเขต อ.แม่ฟ้าหลวง ไม่ทราบข้อมูลมาก่อน จนกระทั่งมีการประชุมสัมมนาเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา เพราะมีการประชุมข้อมูลกันเฉพาะพื้นที่ อ.แม่จัน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อยู่เหนือเขื่อน ซึ่งเป็นชนเผ่าอาข่า ลาหู่ จีน ไทยใหญ่ ฯลฯ และจะต้องถูกน้ำท่วมกลับไม่ทราบเรื่อง
ดังนั้น ชาวบ้าน 22 ชุมชน รวมทั้งลุ่มน้ำสาขา คือ ลุ่มน้ำห้วยแม่แสลบ น้ำแม่เปิน แม่หม้อ หัวแม่คำ ฯลฯ จึงหารือกันเมื่อวันที่ 8 พ.ย. รวมตัวจัดตั้งเป็นเครือข่ายและคณะทำงานเพื่อเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อหน่วยงานภาครัฐ โดยช่วงนี้จะจัดกิจกรรมแสดงจุดยืนคัดค้านไปก่อน จากนั้นจะประชุมแกนนำอีกครั้งวันที่ 21 พ.ย.นี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่ฟ้าหลวง
นายไกรสิทธิ์กล่าวอีกว่า ข้อมูลล่าสุดทราบว่า ถ้าสร้างเขื่อนดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ 3 หมู่บ้านเขต อ.แม่ฟ้าหลวง จมน้ำทั้งหมดหมู่บ้าน รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรอีกเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งทางเครือข่ายกำลังหาข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนอยู่ เพราะจุดที่จะถูกน้ำท่วมไม่ได้มีแค่ที่ทำกินทั่วไป แต่ยังมีพื้นที่ปฏิรูปเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ป่าไม้ พื้นที่ความมั่นคงแม่จัน-แม่ฟ้าหลวง
รวมถึงพื้นที่ติดต่อกับโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯลฯ ซึ่งในอดีตพื้นที่เคยมีปัญหาป่าไม้ถูกทำลายและยาเสพติด ต่อมาโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เข้าไปแก้ไขปัญหาทำให้ป่าไม้ได้รับการฟื้นฟูและชาวบ้านมีที่ทำกินอย่างลงตัว แต่หากมีเขื่อนขึ้นมาก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่
โดยเฉพาะป่าไม้ที่เคยร่วมกันสร้างใหม่ก็จะจมอยู่ใต้น้ำ แม้มีการชดเชยที่ดินผืนใหม่ให้ ก็คงไม่คุ้ม เพราะจะส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ อีก
นายไกรสิทธิ์บอกว่า เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าจะสร้างเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง แต่ชาวบ้านเห็นว่ามีทางเลือกอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้กว่า 30 โครงการ เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายกั้นน้ำในลักษณะเดียวกับฝายผาม้าที่มีอยู่เดิมใกล้จุดที่จะก่อสร้างอยู่แล้ว โครงการแก้มลิง การขุดลอก ฯลฯ แต่รัฐไม่ทำ กลับจะสร้างเขื่อน ซึ่งไม่ใช่คำตอบ และจะมีผลเสียมากกว่าด้วยซ้ำ
“อย่างเขื่อนกั้นแม่น้ำแม่สรวยที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ก็เป็นอีกตัวอย่างที่มีปัญหาจนถึงปัจจุบัน และสำหรับเชียงรายนั้น ผมเห็นว่าน้ำจะไหลขึ้นเหนือลงสู่แม่น้ำโขง เราจึงไม่ใช่เมืองที่มีสายน้ำใหญ่ที่จะมีผลกระทบมาก จึงควรอยู่กันอย่างพอเพียง ทำฝายกั้นน้ำ หรือกักน้ำไว้ใช้ให้พอ ไม่ถึงกับต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ก็ได้”
นายไกรสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่น่าจับตามองอีกประการคือ จุดที่จะก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ อยู่ใกล้กับรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่เคยส่งผลกระทบในอดีตมาแล้ว บริเวณเดียวกันยังมีรอยเลื่อนเชียงแสน และรอยเลื่อนดอยตุงที่ยังไม่แสดงพลังออกมาด้วย
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำดังกล่าวมีรายงานว่า กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทธารา คอนซัลแตนส์ จำกัด, บริษัทสยาม เทค กรุ๊ป จำกัด และบริษัทเอส เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ศึกษาความเหมาะสมตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2558-4 ส.ค. 2559 ระยะเวลา 540 วัน
ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการ ประชุมกลุ่มย่อย และสัมมนาโครงการไปแล้วหลายครั้ง โดยให้เหตุผลว่าในปี 2549 มีความเสียหายจากภัยแล้งและน้ำท่วมลุ่มน้ำคำและน้ำจันที่บรรจบกันก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงพื้นที่ ต.ป่าสัก โยนก เวียง ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน ต.จอมสวรรค์ จันจว้า จันจว้าใต้ ป่าซาง ป่าตึง แม่คำ แม่จัน แม่ไร่ ศรีค้ำ และสันทราย อ.แม่จัน และ ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย เนื้อที่ประมาณ 53,000 ไร่
แนวทางแก้ไขปัญหาคือปิดกั้นแม่น้ำคำบ้านปางพระราชทาน ม.15 ต.แม่ฟ้าหลวง ด้วยเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 64 เมตร สันเขื่อนยาว 440 เมตร และกว้าง 8 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำ 253.87 ล้านลูกบาศก์เมตร มูลค่า 915.19 ล้านบาท
และได้แจ้งทางเลือกที่จะสร้างเอาไว้อีก 4 จุด คือ ที่บ้านปางพระราชทานเช่นกันแต่ห่างออกไป 1-2 กิโลเมตร เพื่อกักเก็บน้ำปริมาณ 256.46 ล้านลูกบาศก์เมตร จุดที่ 3 บ้านแม่เปิน จุดที่ 4 บ้านห้วยส้านใหม่ และจุดที่ 5 บ้านสามัคคีใหม่ ต.แม่ฟ้าหลวง การดำเนินการถัดจากนี้คือ การประชุมกลุ่มย่อยในเดือน ธ.ค. 58 และประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการช่วงเดือน ก.ค. 2559 ก่อนนำเสนอกรมชลประทานต่อไป