เชียงราย - อนุกรรมการบริหารจัดการน้ำ เปิดเวทีรับฟังความเห็นคนลุ่มน้ำโขง-น้ำกก-สาละวิน ก่อนชงข้อมูลให้กรรมการน้ำ คสช.ทำแผนแม่บทต่ออธิบดีกรมชลฯ ชี้ชัด 3 ลุ่มน้ำมีน้ำฝนมหาศาล แต่กักเก็บได้น้อย ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งซ้ำซาก
วันนี้ (8 ก.ย.) นายชาญณรงค์ พูนวิริยาภรณ์ ประธานเครือข่ายกลุ่มลุ่มน้ำ เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการประเด็นการรับฟังสภาพปัญหาของลุ่มน้ำ และแนวทางการแก้ไขภาคเหนือ ที่คณะอนุกรรมการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมลักษวรรณ รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย
โดยมี นายนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายมนัส โสกันธิกา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำเครือข่ายภาคประชาชนจาก 3 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มแม่น้ำโขงเหนือ ลุ่มแม่น้ำกก และลุ่มแม่น้ำสาละวิน เข้าร่วมประมาณ 160 คน
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า ลุ่มน้ำโขงตอนเหนือมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเชียงราย พะเยา และบางส่วนของลำปาง รวมกว่า 10,183 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำสาขาที่สำคัญ เช่น ลำน้ำจัน แม่น้ำอิง แม่น้ำพุง ลำน้ำแม่ลาว ลำน้ำแม่งาว ลำน้ำมา เป็นต้น
ปัจจุบัน กักเก็บน้ำได้ประมาณ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร ลุ่มน้ำกก ครอบคลุมพื้นที่เชียงราย-เชียงใหม่ พื้นที่ทั้งหมด 7,895 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำฝนมหาศาล แต่สามารถกักเก็บได้เพียง 110 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนลุ่มน้ำสาละวิน ส่วนใหญ่อยู่ในเขต จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก และบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ กักเก็บน้ำได้เพียงประมาณ 26 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และความแห้งแล้งซ้ำซากทุกปี
หลังรับฟังข้อมูลทั้งหมดจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ และ คสช.เพื่อจัดทำแผนแม่บทบริหารน้ำของประเทศไทยเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา และสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของคนไทยต่อไป
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ได้มีการเปิดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน โดยเฉพาะเครือข่ายลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อที่จะได้นำความรู้ ประสบการณ์ การสัมผัสกับวิถีชีวิต และการสะท้อนถึงสภาพที่แท้จริงของลุ่มน้ำต่างๆ ไปจัดทำแผนพัฒนา และแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
เพราะที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนเข้าไปมีบทบาทน้อย และเสี่ยงต่อการที่โครงการพัฒนาต่างๆ จะก่อสร้างกันไปโดยไม่ฟังเสียงประชาชนจนมีผลกระทบตามมาในที่สุด
ด้าน นายจีระศักดิ์ อินทะยศ แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของอีกคน กล่าวว่า ในอดีตมีการจัดตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาลุ่มแม่น้ำต่างๆ มากมาย แต่แทบไม่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น คณะกรรมการเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ก็เอาคนที่อยู่ จ.เชียงใหม่ เป็นกรรมการ เป็นต้น ซึ่งก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขง ส่วนคนในพื้นที่ไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนในการรับทราบข้อมูล และนำเสนอปัญหา
หรือแม้แต่กรณีเรื่องเกี่ยวกับแม่น้ำระหว่างประเทศ เช่น ข่าวที่ทางการจีนเปิดเขื่อนจิ่งหง ที่มณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ จะเห็นได้ว่า เราแทบไม่ทราบข่าว แต่มาสืบทราบกันจากการแจ้งของเรือสินค้าจีนในแม่น้ำโขง เป็นต้น รวมถึงกรณีการซื้อไฟฟ้าของหน่วยงานในประเทศไทยกับ สปป.ลาว
ปรากฏว่า เมื่อภาคเอกชนฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลได้รับฟ้องแล้ว เพราะไม่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนรับรู้ในการทำสัญญาซื้อ และไม่ทราบผลกระทบว่าจะเป็นอย่างไร
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้มีการแบ่งกลุ่มอภิปรายเพื่อนำเสนอข้อมูลกันทั้ง 3 ลุ่มน้ำตลอดทั้งวัน จากนั้นในวันที่ 9 ก.ย. คณะอนุกรรมการฯ จะจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันใน 4 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ณ ศูนย์วัฒนธรรมภาคเหนือตอนล่างวังจันทร์ ริเวอร์วิว มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อ.เมืองพิษณุโลก ต่อไป