xs
xsm
sm
md
lg

เตือน 16 จว.ภาคเหนือ-อีสาน-ใต้ รับมือฝนตกหนัก ชาวนาภาคกลางเฮ ทำนาได้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจาก http://www.tmd.go.th
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กรมอุตุตนิยมวิทยา เตือน 16 จว.ภาคเหนือ อีสาน ใต้รับมือฝนตกหนัก ด้านกรมชลประทานแนะชาวนาลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างใช้ดุลพินิจปลูกข้าวนาปีได้ หลังขอให้ชะลอมานาน เหตุฝนตกค่อนข้างสม่ำเสมอแล้ว

วันนี้ (5 ส.ค.) กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานลักษณะอากาศทั่วไปว่า ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ตาก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ระนอง พังงา และภูเก็ต ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนตกสะสม ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ในระยะนี้ สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

ด้านส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (4 ส.ค.) เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำในอ่าง 4,057 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ใช้การได้ 257 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลลงอ่าง (3 ส.ค.) 19.08 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำวันละ 5 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่าง 3,251 ล้าน ลบ.ม. ใช้การได้ 401 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลลงอ่าง (3 ส.ค.) 26.24 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำวันละ 11.08 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่าง 143 ล้าน ลบ.ม. ใช้การได้ 100 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลลงอ่าง (3 ส.ค.) 2.05 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำวันละ 1.21 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่าง 39 ล้าน ลบ.ม. ใช้การได้ 36 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลลงอ่าง (3 ส.ค.) 2.33 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำวันละ 1.07 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักยังคงระบายน้ำรวมกันวันละ 18.36 ล้าน ลบ.ม.

และสืบเนื่องจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์ว่า อิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานจึงปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อผลักดันน้ำเค็มจากเดิม 95 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 80 ลบ.ม. เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไว้ให้มากที่สุด

ส่วนของการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ยังไม่มีแผนปรับเพิ่มการระบายน้ำจาก 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ทั้งนี้ หากมีฝนตกด้านท้ายเขื่อน กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานให้ ส่วนปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จะใช้เพื่อควบคุมความเค็มไม่ให้เกินค่ามาตรฐานเท่านั้น

สำหรับการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน เขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร ส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวผลผลิตเกือบหมดแล้ว ส่วนทางตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณฝนที่ตกอยู่ในปัจจุบันทำให้กรมชลประทานสามารถกระจายน้ำเข้าไปในระบบชลประทาน ส่งไปยังพื้นที่การเกษตรได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

อนึ่ง กรณีของการเพาะปลูกพืชโดยเฉพาะข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง กรมชลประทาน ขอย้ำว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ห้ามเกษตรกรทำการเพาะปลูก เพียงแต่ขอให้รอฝนที่ตกต้องตามฤดูกาลก่อนในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา มีฝนตกลงมาค่อนข้างสม่ำเสมอ เกษตรกรจึงสามารถใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจทำการเพาะปลูกได้ด้วยตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น