ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กรมชลประทาน ระดมสูบน้ำเจ้าพระยาลงคลองชัยนาท-ป่าสัก หลังปากคลองต่ำกว่าแม่น้ำ เผย 4 เขื่อนหลักเหลือน้ำใช้งานได้ 587 ล้านคิว วอนใช้อย่างประหยัด กรมอุตุตนิยมวิทยาระบุ ระยะนี้เหนือตอนบน-อีสานยังพอมีฝน
วันนี้ (14 ก.ค.) ส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ประกาศสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา เรื่อง วอนใช้น้ำอย่างประหยัด เหตุน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักยังน้อยมาก โดยระบุว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (13 ก.ค.) เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 3,959 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 29 ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 159 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,180 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 ปริมาณน้ำใช้การได้ 330 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 100 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11 ปริมาณน้ำใช้การได้ 57 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 44 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 5 ปริมาณน้ำใช้การได้ 41 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้ 587 ล้าน ลบ.ม.
ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 4 แห่งยังอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก คงเหลือน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกทางตอนบนยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
สำหรับพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการผลิตน้ำประปา โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ลพบุรี เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ต่ำกว่าระดับปากคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ทำให้น้ำไม่สามารถไหลเข้าคลองได้ กรมชลประทาน โดยสำนักชลประทานที่ 10 จึงได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก พร้อมระดมเครื่องจักรเปิดทางน้ำให้น้ำไหลเข้าคลองส่งน้ำสะดวกมากขึ้น พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือจากพื้นที่ต้นคลองให้งดสูบน้ำ เพื่อให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ให้สามารถสูบน้ำผลิตน้ำประปาได้ตามปกติ และขอวอนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อฝ่าวิกฤตภัยแล้งในปีนี้ไปด้วยดี
ขณะที่กรมอุตุตนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศวันที่ 14 ก.ค. ว่า ร่องมรสุมที่พาดประเทศพม่า และประเทศลาวตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ยังคงมีฝนในระยะนี้ สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนาแน่น ส่วนบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังไว้ด้วย
อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “นังกา” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มการเคลื่อนตัวไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 16-18 ก.ค. ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย