xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ 9 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาถก ร่วมชลประทาน 4 แห่งบูรณาการแนวทางจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - ผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ประชุมร่วมสำนักงานชลประทาน 4 แห่ง บูรณาการจัดสรรน้ำในช่วงสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก

วันนี้ (8 ก.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 12 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขต 2 เป็นประธานการประชุมการบูรณาการจัดสรรน้ำในช่วงสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก

โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี และสระบุรี เข้าร่วมประชุม และรับฟังสถานการณ์น้ำจากผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3, 10, 11, 12 ซึ่งมีหน่วยงานทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ ปลัดจังหวัด ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เกษตรจังหวัด สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าร่วมประชุมประมาณ 150 คน เพื่อกำหนดมาตรการ และแนวทางการบูรณาการจัดสรรน้ำเพื่อแก้ปัญหาการใช้น้ำประปา น้ำอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม และการเกษตร ให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ และทั่วถึง

หลังการประชุมผ่านไป 3 ชั่วโมง นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในฐานะผู้ประสานงานกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้สืบเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย มีความเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สิ่งที่ได้ประชุมในวันนี้ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เห็นภาพรวม และได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของสำนักชลประทานทั้ง 4 แห่ง

แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ถึงตัวนายอำเภอ จึงต้องให้มีการประสานงานกันระหว่างผู้อำนวยการชลประทาน กับนายอำเภอแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ และทางชลประทานจะต้องแจ้งตัวเลขพื้นที่ที่คาดการณ์ว่า ผลิตผลทางการเกษตรเสี่ยงจะเกิดความเสียหาย จากการส่งน้ำไปไม่ถึงให้แก่ทางจังหวัดทราบ เพื่อทางจังหวัดจะได้บริหารจัดการนำทรัพยากรที่อื่นเข้าไปช่วยเหลือนอกเหนือจากน้ำที่มีอยู่ และในการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตอย่างนี้ทางกรมชลประทาน อาจจะต้องจัดสรรน้ำตรงนี้ใหม่ให้เป็นระบบที่ได้สัดส่วนต่อพื้นที่ที่เพาะปลูกจริง ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า

กำลังโหลดความคิดเห็น