พิจิตร - ชาวนาบึงนาราง เมืองชาละวัน เลิกทำนา หันปลูกผักสวนครัวกันเกือบยกหมู่บ้าน เก็บผลผลิตขึ้นรถบรรทุกส่งขายตลาดสี่มุมเมือง ได้วันละร่วม 20 ตัน ทำเงินเข้าหมู่บ้านวันละไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท ดีกว่าทำนาที่นอกจากปัญหาราคาข้าวแล้วยังเจอแล้งซ้ำ เผยทั้งอำเภอเลิกปลูกข้าวถาวรแล้วนับหมื่นไร่
วันนี้ (11 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พยายามรณรงค์ให้เกษตรกรลดการทำนาปรัง หันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนนั้น ขณะนี้เกษตรกรชาวนาบ้านหนองจิกสี ต.แหลมรัง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร พากันลดพื้นที่การทำนากันเกือบยกหมู่บ้านแล้ว
นายบุญส่ง ฉิมคง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านหนองจิกสี บอกว่า หลังลดทำนากันแล้ว ชาวบ้านได้หันมาปลูกพืชผักสวนครัว เช่น กระชาย พริก มะเขือยาว กล้วยน้ำว้า และถั่วเขียวในสวนกล้วยให้เป็นพืชคลุมดินและบำรุงดิน จากนั้นก็รวบรวมผลผลิตส่งขายตลาดสี่มุมเมือง โดยมีพืชผักส่งออกจากหมู่บ้านวันละกว่า 20 ตัน มีเงินเข้าหมู่บ้านกว่า 2 แสนบาท
นางลำดวล นพวัตร อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 107 หมู่ 5 ต.แหลมรัง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร กล่าวว่า อดีตเคยทำนา แต่เนื่องด้วยพื้นที่นาของตนอยู่ในที่ดอน จึงเปลี่ยนแนวคิดหันมาปลูกกระชายในพื้นที่ 3 ไร่ ทำมานานหลายปีแล้ว มีรายได้จากการขายกระชายมากถึงไร่ละ 5 หมื่นบาท โดยเฉพาะในช่วงนี้กระชายขายได้ราคาดีมากถึงกิโลกรัมละ 25-30 บาท จึงทำให้ลืมตาอ้าปาก มีรายได้ดีกว่าทำนาหลายเท่า
“ยิ่งช่วงนี้ภัยแล้งเริ่มมาเยือนและส่อเค้าว่าจะรุนแรง ฉันและเพื่อนบ้านจึงไม่คิดจะทำนาปรัง หรือกลับไปทำนาอีกอย่างแน่นอน”
นางฉลอง ทองกัน อายุ 63 ปี ซึ่งเป็นชาวบ้านอยู่ในตำบลแหลมรัง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ที่มารับจ้างล้างและตัดรากกระชายเพื่อคัดเลือกส่งตลาด เล่าว่า มารับจ้างทำงานพร้อมกับเพื่อนบ้านอีกเกือบ 10 คน ทุกคนก็มีรายได้ 150-300 บาทต่อวัน ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย เพราะได้ค่าแรงในการดำเนินการกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นรายได้ที่งามพอสมควร เนื่องจากทำงานอยู่ในหมู่บ้าน ไม่ต้องอพยพไปขายแรงงานต่างถิ่น ครอบครัวก็อบอุ่นได้อยู่กับลูกกับหลาน
ด้านนายพรรณยงค์ จันทร์เพ็ง เกษตรอำเภอบึงนาราง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นผู้นำคณะนายบุญเวทย์ ศรีพวงใจ รองผู้ว่าฯ พิจิตร ลงพื้นที่บ้านหนอกจิกสี กล่าวว่า ในเขตบึงนารางเดิมทีเดียวมีเกษตรกรทำนาประมาณ 3 หมื่นกว่าไร่ แต่เนื่องด้ายราคาข้าวไม่จูงใจ จึงหันไปปลูกผัก ปลูกอ้อย ปลูกถั่ว ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกกล้วย และพืชผักอื่นๆ ลดพื้นที่การทำนาแบบถาวรแล้วเกือบ 1 หมื่นไร่ และมีแนวโน้มว่าพื้นที่การทำนาในแถบนี้ ซึ่งต้องพึ่งน้ำจากแม่น้ำปิง กับน้ำบาดาลจะลดลงเรื่อยๆ ชาวนาจะเลิกทำนา แล้วหันมาปลูกพืชผักสวนครัวกันมากขึ้น
ช่วงฤดูแล้งนี้ชาวนาในเขต อ.บึงนารางจึงเข้าร่วมใน 8 มาตรการของกระทรวงเกษตรฯ กันอย่างคึกคักและเป็นรูปธรรม อย่างบ้านหนองจิกสี ต.แหลมรัง ปัจจุบันก็กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่เกษตรกรในหลายพื้นที่แห่กันมาดูงานเอาเป็นแบบอย่างในการทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม และตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงอีกด้วย