ศูนย์ข่าวศรีราชา - จังหวัดชลบุรี จัดการประชุมวิดีทัศน์ทางไกล (Video conference) ด้านปัญหาภัยแล้ง เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เร่งสำรวจพื้นที่ที่คาดการณ์ที่จะประสบภัยแล้ง การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันปัญหา
วันนี้ (3 พ.ย.) กระทรวงมหาไทย จัดการประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกรอบแนวทางการดำเนินงานตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558-2559 ณ ห้องพระพิพิธโภไคย โดยมี นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุม
นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนายอำเภอทุกอำเภอ ร่วมประชุม Video Conference การชี้แจงทำความเข้าใจกรอบแนวทางการดำเนินงานตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/2559 โดยมี นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน รอบด้าน โดยเฉพาะการรับซื้อผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช
รัฐบาลได้ตระหนัก และมีความเป็นห่วงเกษตรกร และประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง และโครงการจัดทำแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ใน 8 มาตรการ คือ
1) มาตรการส่งเสริมความรู้ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2) มาตรการชะลอ หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้ต่อสถาบันการเงิน 3) มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 4) มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
6) มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 7) มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 8) มาตรการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากการขาดรายได้ในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งสร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนอาชีพ และโครงสร้างการผลิตที่เหมาะสม โดยเป็นไปตามความสมัครใจของประชาชน และการมีส่วนร่วมของชุมชน และเกษตรกรในการแก้ไขปัญหา และการวางแผนการผลิตด้วยตนเอง ด้วยการคิดเอง ทำเอง สอดคล้องต่อความต้องการของชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ เพื่อให้ชุมชน และเกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤตภัยแล้ง
สำหรับจังหวัดชลบุรี ได้มีการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่คาดการณ์ที่จะประสบภัยแล้ง การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันปัญหาภัยแล้ง พร้อมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเพื่อจัดทำแผนในการให้ความช่วยเหลือ และประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจต่อเกษตรกรเกี่ยวกับการปลูกพืชให้เกิดความเหมาะสมต่อสถานการณ์น้ำแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรที่จะทำการปลูกข้าวนาปรัง อาจแนะนำปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนอีกด้วย