xs
xsm
sm
md
lg

รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำและแหล่งปลูกข้าวชัยนาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยาชัยนาท พร้อมมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำแก่เจ้าหน้าที่ชลประทานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา แนะผู้ว่าฯ ชัยนาท ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยทำการขุดบ่อน้ำแบบขนมครกไว้ใช้กักเก็บน้ำ กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจดูสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำแก่เจ้าหน้าที่ชลประทานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา ที่มีปริมาณน้ำใช้การรวมแล้วเหลือประมาณ 4,275 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่น้อย ต้องมีการบริหารจัดการดูแลอย่างใกล้ชิดให้เพียงพอใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และการปลูกพืชใช้น้ำน้อยไปจนถึงฤดูฝนในปี 2559 ซึ่งการบริหารจัดการน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในปริมาณ 130 ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะสามารถควบคุมน้ำให้มีใช้ไปได้ตลอด 9 เดือน ก่อนถึงฤดูฝนปีหน้า

จากนั้นได้เดินทางไปที่แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย ม.6 ต.ท่าชัย อ.เมือง จ.ชัยนาท เพื่อตรวจดูพื้นที่ปลูกข้าวแปลงใหญ่ และพบปะพูดคุยกับเกษตรกร โดยเกษตรกรและผู้นำท้องถิ่นได้ร้องขอให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ จำนวน 50 ล้านบาท จัดสร้างโรงสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าบริเวณปากคลองระหานใหญ่ ม.9 ต.ท่าชัย เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 3 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าชัย ต.นางลือ และ ต.แพรกศรีราชา กว่า 40,000 ไร่ ให้มีน้ำใช้เพาะปลูกได้ไม่ขาดแคลน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ลงพื้นปลูกเมล็ดพันธ์ข้าวปลูกแหล่งใหญ่ของประเทศ พี่น้องเกษตรกรปรารถนาที่จะใช้น้ำ แต่ในปีนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในเขื่อนค่อนข้างน้อย สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้เกษตรกร และส่วนราชการที่ต้องทำหน้าที่ด้วย กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว 8 มาตรการ โดย 7 มาตรการได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจเกษตรกรแล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ 2 ครั้งแล้ว ส่วนอีกมาตรการคือ เป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย คือ “ทีมประเทศไทย” มีส่วนราชการลงมาพร้อมกันเพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ จะเน้นการสร้างความเข้าใจว่า ขณะนี้เราไม่สามารถสนับสนุนน้ำได้ จะทำให้เกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำต่อเนื่อง เกษตรกรจะทำอะไรในขั้นตอนนี้มีทางเลือกคือ หากเกษตรกรไม่ปลูกข้าวสามารถปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน หรือการเลี้ยงสัตว์ หรืองานอื่นๆ รวมทั้งการจ้างแรงงานในห้วงเวลานี้ หากเกษตรกรเข้าใจ และให้ความร่วมมือต่อราชการ จะทำให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน การทำงานของจังหวัดชัยนาท ทราบว่า มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาก ทั้งส่วนราชการ และทหารที่อยู่ในพื้นที่ ร่วมกันทำงานที่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากเป็นการทำงานที่พร้อมเพรียงกันดี มีความใกล้ชิดประชาชนอย่างแท้จริง

จากการพูดคุยกับชาวบ้าน ทราบว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำทีมลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจหลายครั้ง เกษตรกรมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง เชื่อว่าทุกคนเข้าใจในสถานการณ์น้ำเป็นอย่างดี แต่มาตรการของรัฐบาลบางเรื่องอาจเป็นเรื่องใหม่ เกษตรกรอาจจะยังขาดความมั่นใจ ภาคราชการยังต้องทำการสร้างความเข้าใจต่อเกษตรกรต่อไป ซึ่งได้เรียนย้ำส่วนราชการที่เข้าร่วมประชุมว่าเราต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ยังได้แนะนำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยทำการขุดบ่อน้ำแบบขนมครกไว้ใช้กักเก็บน้ำกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึง



กำลังโหลดความคิดเห็น