xs
xsm
sm
md
lg

คนน่านเปิดเวที “สานพลังประชารัฐด้วยศาสตร์พระราชาฯ” ชูแผนชุมชนนำทางพัฒนา ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - ประชาคมคนเมืองน่าน เปิดเวที “สานพลังประชารัฐด้วยศาสตร์พระราชาฯ” ชูใช้แผนชุมชนนำทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก



นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดเวที “สานพลังประชารัฐด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดน่าน” ณ อาคารสโมสรเครือข่ายบริการสาธารณะ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดน่าน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานประสานพัฒนาสังคมสุขภาวะ เพื่อจุดประกายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง เพิ่มความมั่นคง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร-ผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เช่น จังหวัดน่าน, มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ, หอการค้าจังหวัดน่าน, มูลนิธิฮักเมืองน่าน, แกนนำชุมชน, ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมเวทีกว่า 150 คน พร้อมกับมีการถ่ายทอดสดทั้งภาพ และเสียง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประชาชนชาวจังหวัดน่านด้วย

ในเวทีฯ ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งเรื่องการสร้างความเข้าใจพลังของแผนชุมชน กุญแจสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานราก ด้วยศาสตร์พระราชา ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง เศรษฐกิจฐานราก สู่ความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งมีการนำความสำเร็จของชุมชน เช่น แกนนำกลุ่มปลูกพริก ต.ยอด อ.สองแคว ที่สามารถปลูกพริกส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนและชุมชน แกนนำกลุ่มหมูสัมมาอาชีพ ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง ที่สมาชิกในชุมชนสามารถรวมกันเลี้ยงหมู สร้างรายได้อย่างยั่งยืน จนขยายผลเป็นโครงการหมูของขวัญ และหมูมรดก สร้างความเข้มแข็งของชุมชนได้เป็นอย่างดี

นางสุภาพ สิริบรรสพ หัวหน้าสำนักกิจการพิเศษ ประชาคมน่าน และ น.ส.พิมลพรรณ สะกิดรัมย์ ตัวแทนจากมูลนิธิฮักเมืองน่าน กล่าวว่า จากข้อมูลการจัดเวที “เหลียวหลัง แลหน้า 20 ปี พิมพ์เขียวจังหวัดน่าน ภาคประชาสังคม” เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งหลายภาคส่วนได้ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนมาโดยตลอด โดยใช้หลัก “ศาสตร์พระราชา” เพื่อการพัฒนาที่มั่นคง ยั่งยืน

ส่วนเวทีสานพลังประชารัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการจัดเวทีประชารัฐจังหวัดแรกในระดับภูมิภาค เป็นการปลุกความคิดให้ชุมชนรู้จักการใช้แผนชุมชน ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือ หรือแผนที่ที่เป็นความต้องการที่แท้จริง และเป็นความต้องการส่วนใหญ่ของชุมชน ในการรองรับงบประมาณต่างๆ ที่จะถูกถ่ายเทลงไปยังชุมชน เพื่อให้การใช้งบประมาณพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงต่อความต้องการของชุมชนมากที่สุด และเชื่อมโยงไปถึงแนวคิดด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ชุมชนฐานรากมีทางเลือกในการสร้างงานสร้างเงินด้วยเกษตรแบบพอเพียง

หลังจากที่พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และมีการส่งเสริมพืชทางเลือกแล้ว ได้ดึงภาคธุรกิจ ภาคการตลาดเพื่อมารองรับผลผลิตของชุมชน ให้เกิดครบวงจรจนสามารถกลายเป็นรายได้ที่มั่นคงได้ต่อไป โดยความสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามหลักศาสตร์พระราชา และการเป็นประชารัฐที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม





กำลังโหลดความคิดเห็น