xs
xsm
sm
md
lg

องคมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริที่อ่างทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อ่างทอง - “นายพลากร สุวรรณรัฐ” องคมนตรี พร้อมด้วยที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ และคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริ ที่ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง พร้อมปลูกต้นมะขามป้อม หน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (30 ต.ค.) นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วย นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. นายจรูญ อิ่มเอิบสิน ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจเยี่ยมโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริ ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง โดยมี นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวต้อนรับ พร้อมกับรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงาน ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ

โอกาสนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ร่วมปลูกต้นมะขามป้อม หน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ และเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในพื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ประกอบด้วย กิจกรรมปศุสัตว์ กิจกรรมพืชผักและผลไม้ และแปลงป่าไม้ จากนั้นองคมนตรี และคณะเดินทางไปยังศูนย์ศิลปาชีพ พร้อมทั้งเยี่ยมชมกิจกรรมศูนย์ศิลปาชีพ เช่น การทอผ้า การแกะสลักไม้ การปักผ้าโขน เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

สำหรับโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริ ตำบลสีบัวทอง เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาอุทกภัย เนื่องมาจากพายุไต้ฝุ่นช้างสารที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคม 2549 โดยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2549 ได้มีพระราชดำริความว่า “ให้จัดหาที่ดินซึ่งเป็นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง อยู่ใกล้เคียงจังหวัดอ่างทอง นำมาจัดสร้างศาลาอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ใช้เป็นศูนย์กลางรองรับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจนไร้ที่อยู่อาศัย”

จังหวัดอ่างทอง จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโดยก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ ณ ตำบลโพสะ อำเภอเมืองอ่างทอง บนพื้นที่ 75 ไร่ และจัดทำฟาร์มตัวอย่างที่หนองระหารจีน ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง บนเนื้อที่ 36ไร่ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549 และได้พระราชทานพระราชดำริ “ให้จังหวัดพิจารณาพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการฟาร์มตัวอย่างในภาคกลางอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าเดิม”

จังหวัดอ่างทอง จึงได้จัดหาพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อจัดทำฟาร์มตัวอย่างแห่งที่ 2 ขึ้น โดยใช้ที่ราชพัสดุบริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง และเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 โดยสำนักงาน กปร.ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ปี 2551 กิจกรรมภายในฟาร์ม ประกอบด้วย กิจกรรมพืชผัก เช่น บวบ ถั่วฝักยาว ดอกสลิด ข้าวโพดหวาน ฯลฯ กิจกรรมไม้ผล เช่น มะละกอ กระท้อน มะยงชิด มะม่วงพันธุ์ต่างๆ กิจกรรมเพาะเห็ด เช่น เห็ดนางฟ้าภูฐาน นางรมฮังการี นางนวล เป๋าฮื้อ กิจกรรมนาข้าว ปลูกข้าวพันธุ์ เช่น หอมมะลิ หอมปทุม สังข์หยด และไรซ์เบอร์รี่

นอกจากนี้ ยังปลูกข้าวพันธุ์ กข 31 เพื่อใช้สำหรับผลิตเป็นพันธุ์ข้าวปลูกเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรโดยมุ่งเน้นคุณภาพ และราคาที่ถูก ผลผลิตที่ได้ จำนวน 3,815 ถัง/รุ่น โดยปลูกข้าว 2 ครั้งต่อปี กิจกรรมกล้วยไม้ เช่น พัชรดีไลท์ มนวดี วิบูลย์ เอสโค กิจกรรมปศุสัตว์ เช่น ไก่ไข่ เป็ดอี้เหลียง กิจกรรมประมง เช่น การเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสลิด ปลาดุก และการเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ กิจกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น การผลิตนมแพะ น้ำสมุนไพร น้ำลูกหม่อน ข้าวกล้อง น้ำเห็ดสามอย่าง กล้วยฉาบ ชาใบหม่อน ฯลฯ และกิจกรรมด้านพัฒนาป่าไม้ เช่น การปลูกป่า การสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

จากการดำเนินงานของโครงการฟาร์มตัวอย่างสีบัวทอง ได้ก่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงและสังคมในด้านต่างๆ คือ เป็นแหล่งจ้างแรงงานให้แก่ราษฎรที่ประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นจังหวัดอ่างทอง และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบัน มีการจ้างแรงงาน จำนวน 200 คน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการให้แก่เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีให้แก่ชุมชน และประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

จากนั้น นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และคณะเดินทางไปยังศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง พร้อมทั้งเยี่ยมชมกิจกรรมศูนย์ศิลปาชีพ เช่น การทอผ้า การแกะสลักไม้ การปักผ้าโขน เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองที่เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ต้องการช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปลายปี 2549 ในพื้นที่ราบภาคกลาง ทำให้บ้านเรือน สวน ไร่ นา ของราษฎรได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง และได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก

ต่อมา ในปี 2550 จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ช่วยเหลือบุตรหลานของครอบครัวราษฎรที่เดือดร้อนบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีอาชีพ และยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อให้เข้ารับการฝึกอาชีพที่โครงการฯ จึงให้ตั้งเป็นศูนย์ศิลปาชีพมีราษฎรที่ได้ผ่านการคัดเลือกทั้งหญิงและชายเข้ารับการฝึกอบรม รวม 60 คน มีวิทยากรศูนย์ศิลปาชีพในภาคต่างๆ มาเป็นวิทยากร สอนการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรในการผลิตเซรามิกอย่างต่อเนื่อง และได้ขยายโอกาสให้ราษฎรเข้ามารับการฝึกอบรมเพิ่มจำนวนมากในแผนกต่างๆ มี 4 แผนก ประกอบด้วย แผนกฝึกอาชีพเครื่องปั้นดินเผา แผนกฝึกอาชีพทอผ้า แผนกฝึกอาชีพงานแกะสลักไม้ แผนกฝึกอาชีพปักผ้า เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น