xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นฝนเขื่อนแห้ง! โคราชระดมรับมือแล้งหนักสั่งสร้างฝายสู้ ห่วง 228 หมู่บ้านวิกฤตขาดน้ำดื่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-ผู้ว่าฯ โคราช เรียกถกระดมทุกภาคส่วนบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้งหนัก หลังสิ้นฤดูฝนน้ำเขื่อนน้อยเป็นประวัติการณ์ สั่ง 32 อำเภอ “สร้างฝายสู้แล้ง” ดีเดย์เปิดโครงการพร้อมกันทั้งจังหวัด 31 ต.ค.นี้ ห่วง 7 อำเภอ 228 หมู่บ้านเผชิญวิกฤตหนักต้องแจกน้ำกินน้ำใช้ตั้งแต่หัวปี ย้ำลดนาปรังจาก 6 แสน เหลือ 6 หมื่นไร่ เผยประปา 6 แห่งจ่อวิกฤตมีน้ำผลิตอีกไม่เกิน 2 เดือน

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ห้องปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พล.ต.ศักดา เปรุนาวิน รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานประชุมกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งชลประทาน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง สำนักงานทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล ประมงจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด การประปาส่วนภูมิภาค และประปาเทศบาลนครนครราชสีมา เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ปีนี้น้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ขณะที่แหล่งน้ำต่างๆ เริ่มแห้งขอด วันนี้ได้หารือกันถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อรับมือวิกฤตแล้งหนักที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 เนื่องจากฤดูฝนปีนี้หมดเร็วกว่าทุกปี และฝนตกน้อยจากเดิมกว่า 1,000 มม. แต่ปีนี้มีฝนตกรวมแค่ 700 กว่า มม.เท่านั้น และขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่หน้าหนาวแล้ว

จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมากหากไม่มีการเตรียมแผนรองรับที่ดีประชาชนจะประสบต่อปัญหาขาดน้ำกินน้ำใช้

ล่าสุด ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้ในการผลิตประปา รวมถึงสำรองไว้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ โรงพยาบาล และสถานประกอบการ และให้จัดหาแหล่งน้ำสำรองในการกักเก็บน้ำเพื่อการผลิตประปาอย่างน้อย 10 วัน เพื่อลดผลกระทบในการขาดแคลนน้ำ

อีกทั้งให้มีการทำระบบสูบน้ำ และท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนสู่จุดผลิตน้ำประปาโดยตรงเพื่อลดปัญหาการแย่งน้ำจากภาคการเกษตร ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้ขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จากกระทรวงพลังงาน จำนวน 43 เครื่อง นำมาสูบน้ำกักเก็บทำประปา และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในจุดต่างๆ

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้ 32 อำเภอ สร้างฝายกักเก็บน้ำ ตามโครงการ “ชาวโคราชสร้างฝาย สู้ภัยแล้ง” เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค หรือเพื่อการเกษตร เบื้องต้น มีการก่อสร้างฝายแล้ว ใน 15 อำเภอ จำนวน 87 ฝาย ปริมาณน้ำกักเก็บ 4,988,530 ลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของอำเภอต่างๆ โดยจะมีพิธีเปิดโครงการพร้อมกันทั้งจังหวัดในวันที่ 31 ต.ค.นี้

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 7 อำเภอ 28 ตำบล 228 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อำเภอพระทองคำ เทพารักษ์ ด่านขุนทด ขามสะแกแสง โนนไทย คง และบัวใหญ่ ซึ่งได้สั่งการให้อำเภอเร่งให้การช่วยประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้ทั่วถึง หากงบประมาณของท้องถิ่นไม่เพียงพอให้เสนอมายังจังหวัดเพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมาทั้ง 5 เขื่อน ล่าสุด มีปริมาณน้ำรวม 452.95 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47.78 ของความจุรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 135.75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41.84 ของความจุรวม 314 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำ 93.99 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85.73 ของความจุรวม 109.63 ล้าน ลบ.ม.เป็นเขื่อนที่มีน้ำเหลือมากที่สุด เขื่อนลำมูลบน มีปริมาณน้ำ 54.81 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 38.88 ของความจุรวม 141 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำแชะ มีปริมาณน้ำ 112.97 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41.08 ของความจุรวม 275 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปลายมาศ มีปริมาณน้ำ 55.42 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56.55 ของความจุ 98 ล้าน ลบ.ม.

จากปัญหาน้ำเหลือน้อยจำเป็นต้องลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรังลงเหลือร้อยละ 10 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดกว่า 600,000 ไร่ หรือไม่เกิน 60,000 ไร่ ซึ่งชลประทานจะเป็นผู้ที่ดูแลในเรื่องดังกล่าว สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากขณะนี้คือ ชาวบ้านใน 200 กว่าหมู่บ้านที่จะต้องแจกน้ำกินน้ำใช้ต้องไม่ให้ขาดแคลนเด็ดขาด และการประปาอีก 6 แห่งที่มีแหล่งเก็บน้ำใช้ได้อีกเพียง 1-2 เดือน ได้สั่งการให้เร่งขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำขึ้นมาผลิตประปาให้แก่ประชาชนได้ใช้ พร้อมกันนี้ ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อจะได้ผ่านพ้นวิกฤตแล้งปีนี้ไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น