ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาวโคราชแห่รอรับ “นายกฯ ตู่” สุดคึกคัก วางมาตรการตรวจเข้มอาวุธก่อนเข้างาน ด้านกรมชลประทานชี้หลังรับงบปรับปรุงลำพระเพลิงทำให้แก้ภัยแล้ง แก้น้ำท่วมได้ยั่งยืน เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้กว่า 1.8 หมื่นไร่
วันนี้ (25 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรอต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมาตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำ ที่จังหวัดนครราชสีมา เวลาประมาณ 14.00 น.วันนี้ โดยเดินทางมาที่เขื่อนลำพระเพลิง ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ล่าสุดจนถึงขณะนี้ประชาชนและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ได้เดินทางเข้าประจำพื้นที่เพื่อรอต้อนรับนายกรัฐมนตรี ซึ่งทุกคนต้องผ่านเครื่องตรวจสแกนอาวุธของชุดรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
เช่นเดียวกันกับสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ต้องตรวจกล้องและอุปกรณ์ทุกชิ้น ส่วนศูนย์ดํารงธรรมจังหวัดนครราชสีมาได้ตั้งจุดบริการสำหรับประชาชนที่จะเข้าร้องเรียนความเดือดร้อนต่างๆ ไว้ที่วัดบ้านบุหัวช้าง ห่างจากจุดที่นายกรัฐมนตรีมาตรวจราชการประมาณ 3 กิโลเมตร
สำหรับการเดินทางลงพื้นที่ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ครั้งนี้เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการปรับปรุงเขื่อนลำพระเพลิง ที่ได้จัดสรรเงินงบประมาณกว่า 476 ล้านบาทปรับปรุงอาคารระบายน้ำหรือสปิลเวล์ ก่อสร้างคลองผันน้ำ ส่งผลให้เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 18,000 ไร่ รวมทั้งป้องกันน้ำท่วมในเขตอำเภอปักธงชัยโชคชัย และเขตเศรษฐกิจเมืองนครราชสีมา มีน้ำต้นทุนผลิตประปา 720,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน เป็นเพียงลุ่มน้ำเดียวของจังหวัดนครราชสีมาที่ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งและสามารถปล่อยน้ำให้เกษตรกรได้ทำนาปรังด้วย
ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำให้เขื่อนลำพระเพลิง โดยยกระดับสันอาคารระบายน้ำล้นให้สูงขึ้น สามารถเพิ่มความจุจากเดิม 105 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 155 ล้าน ลบ.ม. พร้อมปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายของโครงการลําพระเพลิงเพื่อเพิ่มความจุจาก 12 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 22 ลบ.ม.ต่อวินาที สำหรับผันน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิงไปอ่างเก็บน้ำลำสำลาย และขุดลอกอ่างเก็บน้ำลำสำลาย เพิ่มความจุจากเดิม 40 ล้าน ลบ.ม. เป็น 42.20 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการสามารถรองรับการใช้งานในฤดูฝนนี้ได้แล้ว
สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพกักเก็บน้ำและผันน้ำเขื่อนลำพระเพลิงและอ่างเก็บน้ำลำสำลายเป็นแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เกษตรกรในพื้นที่การเกษตรเดิม 75,000 ไร่ มีรายได้กว่า 176 ล้านบาทต่อปี มีพื้นที่การเกษตรเกิดใหม่อีกกว่า 18,000 ไร่ มีรายได้เพิ่มขึ้น 40 ล้านบาทต่อปี และยังบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจของอำเภอปักธงชัยและอำเภอโชคชัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมาด้วย
ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร ซึ่งเป็นอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้งและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี กรมชลประทานได้วางแผนงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร โดยเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบนจากเดิม 4.50 ล้าน ลบ.ม. เป็น 9 ล้าน ลบ.ม. และขุดลอกลำน้ำพร้อมกับสร้างอาคารบังคับน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบนไปยังอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้วในปี 2558
นอกจากนี้ยังมีแผนปรับปรุงความจุอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างจากเดิม 27.70 ล้าน ลบ.ม. เป็น 37.70 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับพัฒนาขุดลอกลำเชียงไกรตลอดความยาว 122 กิโลเมตร จนไปบรรจบกับแม่น้ำมูล ระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2560-2562 หากดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งผลดีต่อพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานกว่า 25,000 ไร่ เมื่อมีปริมาณน้ำเหลือยังจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นการสร้างความมั่นคงการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในเขตอำเภอด่านขุนทด อำเภอโนนไทย และอำเภอโนนสูงอีกด้วย