ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “วิเชียร” ผู้ว่าฯ โคราช นำทีมลงพื้นที่ลุยตรวจแหล่งน้ำรับภัยมือแล้งวิกฤต สั่งทุกพื้นที่เร่งสูบน้ำเก็บให้มากที่สุด ขณะแหล่งน้ำผลิตประปาหล่อเลี้ยง “เมืองโนนไทย” อำเภอแล้งรุนแรงซ้ำซาก แห้งขอดเหลือน้ำใช้ได้อีกแค่ 1 เดือนเท่านั้น เผยน้ำ 5 เขื่อนใหญ่โคราชน้อยเพียง 40% ย้ำแล้งหน้าปีหน้างดนาปรังสิ้นเชิง
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่วัดบ้านหนองดุม ต.มะค่า อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายสุวิทย์ คำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ และการผันน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมี นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ นายอำเภอโนนไทยกล่าวรายงาน ทั้งนี้ นายวิเชียร ได้กดปุ่มสตาร์ทเครื่องสูบน้ำระยะไกลเดินท่อขนาด 8 นิ้ว จากบึงหนองดุม ที่มีความจุกว่า 1 แสนคิว ทำการสูบน้ำไปยังสระน้ำบ้านทุ่งหนองแหวน ระยะทางกว่า 1 กม.จุน้ำได้ 4 หมื่นคิว เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปา
จากนั้นคณะของ นายวิเชียร ได้เดินทางต่อไปยังบึงสระจระเข้ บ้านสระจระเข้ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบเพียงแห่งเดียวที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงประชาชนใน 5 ตำบลรวมถึงเขตเทศบาลตำบลโนนไทย หรือตัวเมืองของ อ.โนนไทยทั้งหมด ทั้งย่านตลาดการค้า ศูนย์ราชการ โรงพยาบาล และสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในสภาพวิกฤตแห้งขอดมีปริมาณน้ำเหลือน้อยมากสามารถใช้ผลิตประปาได้ไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น
สำหรับ อ.โนนไทย เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก รุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 27 หมู่บ้าน และมีหมู่บ้านที่ต้องแจกจ่ายน้ำโดยไม่สามารถสูบส่งน้ำไปให้ได้ 2 ตำบล ใน 3 หมู่บ้าน ขณะนี้ได้ใช้รถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายน้ำต่อเนื่องมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว และยังต้องแจกจ่ายน้ำต่อไปอีก โดยพื้นที่ของ อ.โนนไทย เกิดภาวะความแห้งต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน
นายวิเชียร กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งภาพรวมของ จ.นครราชสีมา ล่าสุด ยังมีน้ำต้นทุนเก็บกักอยู่น้อยมาก ปริมาณน้ำทั้ง 5 เขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำอยู่ประมาณ 40% ของความจุรวม ถือว่าเราจะผ่านแล้งนี้ได้ค่อนข้างลำบาก ฉะนั้นจำเป็นต้องพูดคุยกับประชาชนเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้ดี
สำหรับ อ.โนนไทย เป็นพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากมาหลายปี และปีที่ผ่านมา มีการใช้น้ำต้นทุนไปมาก ตอนนี้ในช่วงปลายฤดูฝนทางจังหวัดฯ ต้องพยายามรณรงค์ให้ทุกพื้นที่ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งสูบกักเก็บน้ำสำรองไว้ให้ได้มากที่สุด
ส่วนพืชผลการเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี ที่มีเกือบล้านไร่หากยังมีฝนจะไม่เสียหาย แต่ฤดูแล้งปีหน้าเรื่องการทำนาปรังจะมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอแน่นอน ฉะนั้นต้องวางแผนจัดการให้ดีที่สุด ส่วนอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปีนี้ผ่านช่วงวิกฤตไปแล้ว
“อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยปัญหาภัยแล้งอย่างมาก ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมาจะดูแลประชาชนให้ดีที่สุด” นายวิเชียร กล่าวในตอนท้าย