ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กรมทรัพยากรน้ำ เปิดเวทีถกปัญหาลุ่มน้ำมูล และแนวทางแก้ไขในเขตอีสานตอนล่าง นำร่องที่โคราช เพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำภาคอีสานหวังแก้ท่วม แล้ง และน้ำเสียยั่งยืน ด้านอธิบดีกรมน้ำ ระบุ อีสานประสบปัญหาน้ำหนัก โดยช่วงน้ำหลากท่วม แต่หน้าแล้งกลับไม่มีน้ำกินน้ำใช้ เชื่อแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาได้ยั่งยืนในอีก 10 ปี
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่ห้องอรพิม โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำมูล เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ประเด็น “การรับฟังสภาพปัญหาของลุ่มน้ำและแนวทางแก้ไข เพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้” (พื้นที่ลุ่มน้ำมูล)
โดยมี นายสุรพล ปัตตานี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เข้าร่วม และได้รับความสนใจจากภาคประชาชน องค์กรเอกชน และภาคีเครือข่ายลุ่มน้ำสาขาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี เข้าร่วมระดมความคิดเห็นเสนอปัญหาเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในลุ่มน้ำได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาลุ่มน้ำแบบบูรณาการ รวมถึงเป็นการสร้างความเข้าในร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดทำแผนบูรณาการและเพื่อให้แผนบริหารจัดการน้ำฯ ที่จัดทำขึ้นสามารถเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ควรได้รับการสนับสนุน ซึ่งเป็นการสนองต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย
โดยก่อนเริ่มการสัมมนา น.ส.จุรีพร ประภาพิทยาพงษ์ ตัวแทนภาคประชาชนและผู้ประสานงานชุมชนอำเภอเมืองนครราชสีมา ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องทุกข์ ผ่าน นายนิวัติชัย คัมภีร์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อส่งต่อไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี ให้ลงมาดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองโคราช ซึ่งทวีความรุนแรงทุกปี ซึ่ง นายนิวัติชัย รับปากจะส่งต่อไปยังหัวหน้า คสช. ต่อไป
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า จากการที่ คสช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำของประเทศ และเสนอแผนงานโครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ 5 กลุ่ม
โดยกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะอนุกรรมการ และเลขานุการของคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ในคณะที่ 2 ได้ดำเนินการตามนโยบาย คสช. ด้วยการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ จ.นครราชสีมาในวันนี้ เพื่อรับฟังสภาพปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำ ซึ่งแตกต่างกัน เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาภัยแล้งเป็นหลัก ส่วนในภาคใต้ จะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ จากนั้นนำมาสังเคราะห์เพื่อนำไปสู่กระบวนการทำเป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบภายใน 10 ปี
ฉะนั้น เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ของตนเอง การรับฟังสภาพปัญหาในครั้งนี้ จึงเป็นครั้งสำคัญที่จะทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เมื่อการรับฟังสภาพปัญหาเส้นสิ้นทางคณะอนุกรรมการฯ จะเร่งนำผลการสัมมนาเสนอต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จทั่วประเทศภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้
นายจตุพร กล่าวอีกว่า พื้นที่ลุ่มน้ำมูล ซึ่งอยู่ในโซนภาคอีสานตอนล่างปัญหาที่พบมากคือ เวลาน้ำหลากจะประสบปัญหาน้ำท่วม และการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงจะมีปัญหา แต่เมื่อถึงช่วงฤดูแล้ง ก็ประสบภาวะภัยแล้ง ไม่มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร เป็นปัญหาแบบเดียวกันในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งแหล่งน้ำในพื้นที่อีสานค่อนข้างน้อย
“ฉะนั้นจะต้องมองทุกมิติในการแก้ไขปัญหา โดยเรามองอยู่ใน 2 มิติ คือ การใช้สิ่งก่อสร้าง และไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง สุดท้ายทั้งหมดคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน” นายจตุพร กล่าว