กาญจนบุรี - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทัศนศึกษา ณ จังหวัดกาญจนบุรี โดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟจิตรลดา ถึงสถานีสะพานแควใหญ่ อำเภอเมืองกาญจนบุรี ทรงทอดพระเนตรทัศนียภาพบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว และสุสานทหารสหประชาชาติ
เมื่อเวลา 14.40 น. วันนี้ (16 ต.ค.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งขบวนพิเศษที่ 945 จากสถานีรถไฟจิตรลดา ถึงสถานีสะพานแควใหญ่ ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปทัศนศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทเมืองสิงห์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว สุสานทหารสัมพันธมิตร ศูนย์สงเคราะห์คนชราเฉลิมราชกุมารี ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า อุทยานแห่งชาติไทรโยค ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2558 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกาญจนบุรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 17 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 คณะผู้บริหารการรถไฟสถานีสะพานแควใหญ่ และข้าราชการเฝ้าฯ รับเสด็จ
จากนั้นทอดพระเนตรทัศนียภาพบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่ง “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง สร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรมาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า ซึ่งเส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น การสร้างสะพาน และทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงคราม และโรคภัย ตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง สะพานข้ามแม่น้ำแควแห่งนี้ใช้เวลาสร้างเพียง 1 เดือน
โดยนำเหล็กจากมลายูมาประกอบเป็นชิ้นๆ ตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็ก 11 ช่วง หัวและโครงสะพานเป็นไม้ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2486 ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2487 ได้ถูกทิ้งระเบิดหลายครั้งจนสะพานหักท่อนกลาง ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลไทยได้ซ่อมแซมใหม่ด้วยเหล็กรูปเหลี่ยม เมื่อปี พ.ศ.2489 จนสามารถใช้งานได้ ปัจจุบัน มีการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ
จากนั้นในเวลา 16.10 น. ประทับรถยนต์บัสพระที่นั่งถึงพิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย-พม่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้อำนวยการถวายความปลอดภัยประจำพื้นที่ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี และกรรมการผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย-พม่า เฝ้ารับเสด็จฯ จากนั้นเสด็จฯ เข้าภายในพิพิธภัณฑ์ ทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ เช่น สภาพการสร้างทางรถไฟสายมรณะ โบกี้รถไฟ เชลยศึก ขนาดเท่าของจริง ขบวนการวางแผนการทำงานของเชลยศึก ภาพจำลองเชลยศึก โมเดลจำลองเส้นทางรถไฟและสภาพความเป็นอยู่ของเชลยศึกอังกฤษ ออสเตรเลีย และดัตช์ ทอดพระเนตรวิดีทัศน์ เรื่องการสร้างทางรถไฟสายมรณะของเชลยศึก ทอดพระเนตรห้องพยาบาล เสด็จฯ ขึ้นชั้น 2 ทอดพระเนตรอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ของเชลยศึก โมเดลการตัดเขาช่องเขาขาด ทอดพระเนตรวิดีทัศน์การระเบิดสะพาน เสด็จลงชั้น 1
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปสุสานทหารสัมพันธมิตร ทรงราชพระดำเนินถึงสุสานทหารสัมพันธมิตร ทรงวางพวงมาลาบริเวณอนุสาวรีย์สุสานทหารสัมพันธมิตร ทอดพระเนตรบริเวณสุสานทหารสัมพันธ์มิตร สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก หรือ “สุสานทหารสหประชาชาติ” หรือที่ชาวจังหวัดกาญจนบุรีทั่วไปเรียกว่า “ป่าช้าอังกฤษ” เป็นสุสานขนาดใหญ่บนพื้นที่ 17 ไร่ บรรจุศพเชลยศึกที่เสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะถึง 6,982 หลุม
ซึ่งรัฐบาลไทย และฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2497 เพื่อสร้างสุสานแห่งนี้ขึ้น บรรยากาศในสุสานเงียบสงบ และร่มรื่น พื้นที่ภายในได้รับการตกแต่งไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม เหนือหลุมฝังศพทุกหลุมมีแผ่นทองเหลืองจารึกชื่อ อายุ และประเทศของผู้เสียชีวิต บรรทัดสุดท้ายเป็นคำไว้อาลัยที่โศกเศร้า ทุกปีจะมีวันที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเฉพาะของคนชาติต่างๆ จากนั้นประทับรถยนต์บัสพระที่นั่งเสด็จฯ กลับที่ประทับ