ประจวบคีรีขันธ์ - อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สั่งให้ทั้งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เตรียมความพร้อมในพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอม 3 ต้น ซึ่งยืนต้นตายธรรมชาติในพื้นที่หลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ตามที่ทางวัดบวรนิเวศวรวิหารทำหนังสือขอรับบริจาคไม้จันทน์หอมมา
วันนี้ (11 ต.ค.) นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้เซ็นอนุมัติการแปรรูปไม้จันทน์หอม ที่ยืนต้นตายธรรมชาติ 3 ต้น ซึ่งมีความเหมาะสมให้แก่ทางวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อนำไปใช้ในการออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแล้ว โดยจะมีการประกอบพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมในวันที่ 14 ต.ค.นี้เวลา 09.09 น. ณ มณฑลพิธีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยจะมีโหรหลวงประกอบพิธีบวงสรวงสังเวยเทพยดาบูชาฤกษ์ หลังจากนั้น โหรหลวงจะประกอบพิธีตัดไม้จันทร์หอม พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาตลอดการกระทำพิธี ฯลฯ
“ตอนนี้ผมได้สั่งการไปยัง นายยรรยง เลขาวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง และนายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ตลอดจนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และทางวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เดินทางมาตรวจสอบไม้จันทร์หอมในพื้นที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
“นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เข้ามาร่วมในพิธีในวันดังกล่าวด้วย เพราะจะต้องช่วยกันนำไม้จันทน์หอมออกมาจากพื้นที่ ซึ่งคงต้องมีการตัดทอนแปรรูปออกมาบางส่วนด้วย” นายนิพนธ์ กล่าว
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวอีกว่า สำหรับไม้จันทน์หอมทั้ง 3 ต้น มีปริมาตรรวม 2.229 ลูกบาศก์เมตร คาดมีอายุกว่า 100 ปีขึ้นไป โดยต้นที่ 1 มีขนาดความยาว 10.0 เมตร ความโต 1.70 เมตร ต้นที่ 2 มีขนาดความยาว 12.0 เมตรความโต 1.70 เมตร และต้นที่ 3 มีขนาดความยาว 12.0 เมตร ความโต 1.75 เมตร
ด้าน นายสรัญชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ล่าสุด ได้ดำเนินการสำรวจดูพื้นที่ และไม้จันทน์หอมที่จะตัด 3 ต้น ร่วมกับทางวัดบวรนิเวศวิหาร และสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดประจวบฯ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างมีความพร้อมสำหรับพิธีบวงสรวงในวันที่ 14 ต.ค.ที่จะถึงนี้ โดยไม้จันทน์หอมพบมีการกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่แถบอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คาดน่าจะมีมากที่สุดในประเทศไทย
สำหรับไม้จันทน์หอม จัดเป็นไม้หายากมีค่าเพราะขึ้นอยู่ในภูมิภาคแถบนี้เท่านั้น เป็นไม้โตช้า แม้อายุร้อยปี แต่ลำต้นไม่ใหญ่มากนัก คนโบราณจัดว่าไม้จันทน์หอมเป็นไม้สูงจะนำมาสร้างบ้านเรือนสามัญชนไม่ได้ ต้องทำตำหนักเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จัดเป็นไม้มีค่า เพราะมีกลิ่นหอมตลอดไม่ว่าจะเป็น หรือตาย หอมในทุกส่วนของลำต้นไม่ว่าจะเป็นแก่น เปลือก กระพี้ เหตุเพราะไม้จันทน์หอมมีความหอมไม่ว่าจะเป็น หรือตาย จึงเปรียบเหมือนคน เมื่อเกิดมาทำความดี ตายแล้วก็ยังมีความดีอยู่ คนโบราณจึงนำไม้จันทน์หอมมาเผาศพ เรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” จนถึงปัจจุบันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2551 สำนักราชเลขาธิการ ได้กระทำพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมอายุ 124, 118, 112 ปี จำนวน 3 ต้น เป็นไม้ที่ยืนต้นตายธรรมชาติบริเวณพื้นที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ด้านหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อใช้ในการจัดทำพระโกฏิพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในการใช้ไม้จันทร์หอมไปประกอบพระราชพิธีสำคัญ
ทั้งนี้ เมื่อครั้งงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า นั้นก็มีการใช้ “ไม้จันทน์หอม” จากป่ากุยบุรี และป่าห้วยยาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ สำหรับไม้จันทน์หอมหลังจากประกอบพิธีบวงสรวง และตัดแล้วในครั้งนี้ก็จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังสำนักช่าง 10 หมู่กรมศิลปากรที่จังหวัดนครปฐมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประชาชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ทราบข่าวว่าจะมีการทำพิธีวงสรวงเพื่อตัดไม้จันทน์หอมไปใช้ในการออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช ทุกคนต่างรู้ยินดี และรู้สึกว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นพื้นที่สำคัญที่มีการนำไม้จันทน์หอมไปใช้ในพิธีสำคัญอีกครั้ง