xs
xsm
sm
md
lg

โคราชชงรัฐบาล 3 แนวทางแก้มหากาพย์ฮุบป่า “วังน้ำเขียว” เป็นโมเดลต้นแบบทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง อุทยานแห่งชาติทับลาน และพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินในท้องถิ่นอ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชชงแนวทางแก้มหากาพย์ปัญหารุกป่า “วังน้ำเขียว” ให้รัฐบาลหวังเป็นโมเดลต้นแบบทั่วประเทศ ย้ำเป็นแนวคิดของคนในพื้นที่เสนอ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนาน เผยเสนอ 3 แนวทาง ยึดเจตนารมณ์กฎหมายให้คนจนทำเกษตร ส่วนรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศหรูนายทุนต้องทำให้สอดคล้องกับการเกษตร

นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง อุทยานแห่งชาติทับลาน และพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ในท้องถิ่น อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า ปัญหาการบุกรุกพื้นที่รัฐในเขต อ.วังน้ำเขียวเป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน และไม่มีการแก้ไขปัญหาที่จริงจัง ในช่วงที่ตนมาเป็นผู้ว่าฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาดำเนินการ

การประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมาได้มีข้อสรุปเพื่อเสนอเป็นเบื้องต้นไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยผ่านคณะเลขานุการคณะรัฐมนตรีว่าแนวคิดดังกล่าวนี้เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ขอย้ำว่าแนวทางที่ทาง จ.นครราชสีมาเสนอไม่ใช่ข้อยุติ แต่เป็นแนวคิดของคนในพื้นที่เพื่อจัดการปัญหาของตัวเองไปยังรัฐบาล

ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องด้วยก็จะออกมาตามนี้ หรือไม่เห็นด้วยบางส่วนจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรก็จะต้องมีการพูดคุยกันอีก ทั้งตัวแทนระดับพื้นที่กับผู้บริหารระดับบน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ข้อยุติที่ดีในวันข้างหน้า ดีกว่าไม่มีการคิดริเริ่มอะไรเลย ต่างคนต่างคิดเห็นทำไปก็ไม่เกิดผลดีอะไร โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงาน ทั้งตำรวจ ทหาร องค์กรภาคเอกชน

สำหรับข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ที่นำเสนอเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาไปยังรัฐบาล คือ 1. ในส่วนของอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้ยึดแนวเขตปี 2543 เป็นสำคัญ โดยผู้ที่เข้ามาอยู่ก่อนปี 2550 จะจัดสรรให้คนละไม่เกิน 35 ไร่ ใครที่ถือครองผืนใหญ่อยู่ 500-600 ไร่ต้องนำกลับคืนมาให้รัฐ เพื่อจะได้จัดสรรเป็นเขตปฏิรูปให้แก่คนจน และผู้ยากไร้

2. ส่วนป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง จะยึดถือแนวกันไฟผสมผสานกับร่องน้ำธรรมชาติ ในส่วนที่ไม่มีคนยึดถือครอบครองอยู่จะยึดถือร่องน้ำซึ่งมีพื้นที่ลาดชัน ซึ่งจะเขียนรายละเอียดลงไปในแผนที่ไม่กระทบต่อประชาชนมากนัก ต้องยอมรับว่าอาจมีผลกระทบต่อประชาชนบ้างบางส่วน แต่จากที่ผิดกฎหมายหมด 100% เจ้าของได้คืนมา 50% แต่ถูกกฎหมายก็ทำให้มีความสุขขึ้นอีกมากและอยู่ได้อย่างยั่งยืนถาวร นี่คือการถอยคนละก้าวเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จได้

ส่วนพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. อย่างที่ทราบว่าเขตปฏิรูปตามกฎหมายปี 2518 คือต้องการให้ผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกินได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ได้มีที่ดินทำกินเพราะเป็นรากฐานความมั่นคงของชาติ ต้องนำเอาเจตนารมณ์ของกฎหมายปฏิรูปมาเป็นที่ตั้งด้วย อาจยกเว้นให้ทำนอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรมแต่ต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หรือคู่กันของคนยากไร้ตามกฎหมายมาตรา 30 (5) หรือให้ทำเท่าที่จำเป็นและให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักรวม คือต้องดูการได้มาของการถือครองครั้งแรกด้วยว่าได้มาในสถานะอะไร ก็จะนำไปสู่ข้อยุติในที่สุด ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้แก่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศได้ใช้ หรือเป็น “วังน้ำเขียวโมเดล”

ต่อข้อถามที่ว่ากรณีการสร้างรีสอร์ต หรือบ้านพักตากอากาศหรูของกลุ่มนายทุนที่เกิดขึ้นจำนวนมากในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวนั้นจะเสนอให้มีการดำเนินการอย่างไร นายธงชัย กล่าวว่า ต้องไล่ดูว่าการได้มาครั้งแรกได้มาโดยชอบหรือไม่ชอบ เช่นบางรายได้มาครั้งแรกปลูกข้าวโพด และมีการพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นร้านอาหาร เป็นรีสอร์ต ก็ได้มาโดยชอบตั้งแต่เป็นเกษตรกร และมีการพัฒนาตัวเองขึ้นมา กรณีเช่นนี้ตนสนับสนุน ถือเป็นเรื่องดี คนที่มีการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไม่ใช่ผ่านไปกี่ปีก็ยังปลูกข้าวโพดอยู่เช่นเดิมอย่างนี้ก็ไม่ไหว

ส่วนนายทุนที่มาซื้อที่จากเกษตรกรไปนั้น ต้องมาดูกันว่าจะปรับตัวอย่างไร มีเงื่อนไขในการใช้พื้นที่อย่างไร ซึ่งจะเอาให้เหมือนคนแรกที่ได้มาคงเป็นไปไม่ได้ แต่เงื่อนไขปลีกย่อยต้องไปหารือกัน
นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

บรรดารีสอร์ท บ้านพักตากอากาศหรู บุกรุกป่าและที่ดินรัฐ ใน เขต อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา




กำลังโหลดความคิดเห็น