เชียงราย - มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเปิดเวทีวิชาการนานาชาติ “ศาสตร์การแพทย์แผนจีน” ย้ำคนนานาประเทศยอมรับมากขึ้น-ผลวิจัยชี้ชัดหลายอย่างได้ผลจริง ไม่เฉพาะการฝังเข็ม แนะ 3 แนวทางพัฒนาต่อ
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับสถาบันขงจื่อ, สถานกงสุลสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำ จ.เชียงใหม่, สมาคมแพทย์แผนจีนแห่งประเทศไทย และสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยประเทศจีน ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติศาสตร์การแพทย์แผนจีน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี การจัดตั้งสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ, ครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน และครบรอบ 87 ปี การก่อตั้งสมาคมแพทย์แผนจีนแห่งประเทศไทย
โดยมีนายเฉิน เจียง ที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมเอกอัครราชทูตประเทศจีนประจำประเทศไทย และมี รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล. ร่วมกันเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ ท่ามกลางผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 300 คน
นายเฉิน เจียง กล่าวว่า ปี 2558 นี้ถือเป็นปีแห่งความยินดีที่ศาสตร์การแพทย์แผนจีน เป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย และการที่ มฟล.ได้จัดการประชุมในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย
ทั้งนี้ ตามหลักการเป็นแพทย์ที่ดีนั้นถือว่าไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ใดก็ตาม สิ่งที่แพทย์ควรคำนึงถึงคือ การดูแลป้องกันให้การแนะนำแก่บุคคลทั่วไปไม่ให้เกิดโรคตั้งแต่เนิ่นๆ และหากทำได้ก็ให้ทำการรักษาก่อนที่จะเกิดโรคด้วย ดังนั้นตนจึงเชื่อมั่นว่าการแพทย์แผนจีน และการแพทย์แผนปัจจุบันจะสามารถช่วยดูแลส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้คนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน รศ.ดร.วันชัยกล่าวว่า ปัจจุบันการแพทย์แผนจีนกำลังได้รับความนิยมมาก ขณะที่ มฟล.เองก็มีคู่สัญญา คือ มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนกว่างโจว และมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ทำให้ มฟล.สามารถเปิดการเรียนการสอนด้วยศาสตร์ดังกล่าวด้วยดีตลอดมา และขณะนี้ได้นำวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยพัฒนาด้านการเรียนการสอน
“ผลงานวิจัยหลายอย่างพิสูจน์ว่าทำได้จริง ไม่เฉพาะแค่การฝังเข็ม แต่ยังมีอีกหลายศาสตร์ที่พยายามรวบรวมไว้ในหลักสูตรการแพทย์แผนจีนเพื่อให้สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยอย่างครบถ้วน”
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศาสตร์ด้านนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจาก 3 ด้าน คือ 1. จากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้กำหนดให้แพทย์แผนจีนเป็นสาขาประกอบโรคศิลปะตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะมานานประมาณ 15 ปีแล้ว แต่กฎหมายบางข้อยังไม่ทันสมัย และไม่ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลอาจนำมาพิจารณาได้อีกครั้ง
2. มหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนจะต้องมีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในประเทศ และ 3. การสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในด้านเทคโนโลยี และองค์ความรู้ ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยการสนับสนุนคณาจารย์มาสอนผ่านมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายได้
“หากเราทำทั้ง 3 ด้านร่วมกันจะทำให้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทยได้รับการพัฒนาต่อไป”