xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟจับมือกรมประมงฝ่าวิกฤตโรคอีเอ็มเอสด้วยการเลี้ยงแบบ “เพชรบุรีโมเดล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ซีพีเอฟ จับมือกรมประมงฝ่าวิกฤตโรคอีเอ็มเอส สนับสนุนลูกกุ้งที่ปราศจากเชื้อด้วยการเลี้ยงแบบ “เพชรบุรีโมเดล”

นางมนทกานติ ท้ามติ้ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี กรมประมง เผย ว่า การจัดการบ่อเลี้ยงกุ้งในรูปแบบ “เพชรบุรีโมเดล” ที่ใช้สาหร่ายทะเลช่วยบำบัดเชื้อโรค ร่วมกับการใช้ลูกพันธุ์กุ้งของซีพีเอฟที่มีคุณภาพ และปราศจากเชื้อ ได้มีส่วนช่วยให้การเลี้ยงกุ้งได้ผลสำเร็จที่น่าพอใจ พร้อมถ่ายทอดต่อเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้กับฟาร์มได้ทันที

ในปี 2557 ที่ผ่านมา ผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานต่างยืนยันเป็นที่แน่นอนแล้วว่า โรคอีเอ็มเอสในกุ้งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส สายพันธุ์ AHPND ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี กรมประมง ได้พัฒนารูปแบบการเลี้ยงกุ้งเรียกว่า “เพชรบุรีโมเดล” โดยนำธรรมชาติช่วยบำบัดเชื้อที่มาของโรคในกุ้ง ด้วยการนำสาหร่าย และจุลินทรีย์ ผนวกกับการใช้ลูกพันธุ์กุ้งที่มาจากโรงเพาะฟักกุ้งที่มีมาตรฐาน และปราศจากเชื้อที่สามารถลดโอกาสการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่สร้างความเสียหายให้แก่กุ้งได้มากขึ้น นางมนทกานติ กล่าว

ด้าน น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟสนับสนุนศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี ด้วยการผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพ ปราศจากโรค ได้มาตรฐานสูง รวมถึงใช้เครื่องมือตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่แม่นยำทุกขั้นตอน โดยมองว่าความร่วมมือกับกรมประมงจะมีส่วนช่วยพัฒนากระบวนการฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่ยั่งยืน สร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้นำไปต่อยอดสร้างความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมกุ้งของประเทศต่อไป

นางมนทกานติ กล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี กรมประมง ได้พัฒนา “เพชรบุรีโมเดล” มาใช้กับการเลี้ยงกุ้งด้วยการจัดการบ่อเลี้ยงกุ้งโดยนำธรรมชาติช่วยบำบัดเชื้อโรคในบ่อเลี้ยงด้วยสาหร่ายทะเล และจุลินทรีย์ พร้อมกับใช้เทคนิคการเลี้ยงแบบผสมผสาน ทั้งการให้อาหาร การลดปริมาณสารอินทรีย์ สร้างสภาพแวดล้อมของบ่อให้เกิดความสมดุลของปริมาณแบคทีเรีย เพื่อลดโอกาสการติดโรค สร้างภูมิต้านทานให้แก่กุ้ง ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้ง การเตรียมน้ำที่ใช้เลี้ยง เทคนิคการให้อาหารกุ้ง และการจัดการระหว่างการเลี้ยง

การเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้งของเพชรบุรีโมเดล ประกอบด้วย บ่อเลี้ยงกุ้ง 1 ไร่ ต่อบ่อพักน้ำที่มีการเลี้ยงสาหร่ายทะเล 1 ไร่ โดยทั้ง 2 บ่อจะบำบัดเชื้อโรคการฆ่าเชื้อล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน ด้วยการใส่วัสดุปูนร้อน เช่น ปูนเปลือกหอยเผา พร้อมกับจุลินทรีย์ คราดเลนออกจากก้นบ่อ พร้อมมีระบบเพิ่มอากาศก้นบ่อเลี้ยงกุ้ง เพื่อเตรียมบ่อให้สะอาดก่อนการปล่อยน้ำสำหรับการเลี้ยงกุ้ง และเลี้ยงสาหร่ายทะเลต่อไป

สำหรับบ่อพักน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายทะเลขนาด 1 ไร่ ติดตั้งราวไม้ไผ่ จำนวน 4 ราว สำหรับแขวนแผงเลี้ยงสาหร่ายทะเลหนักประมาณ 5-10 กิโลกรัม สำหรับชนิดของสาหร่ายทะเลต้องเลือกให้เหมาะสมต่อระดับความเค็ม ซึ่งที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรีเลือกใช้สาหร่ายพวงองุ่น ที่เหมาะต่อความเค็ม 25-30 ส่วนต่อน้ำทะเลพันส่วน บ่อเลี้ยงสาหร่ายจะทำหน้าที่เป็นบ่อพักและบำบัดน้ำที่ผันเข้ามาเพื่อใช้เลี้ยงกุ้ง สาหร่ายทะเลจะช่วยให้น้ำสะอาด ใสขึ้น ช่วยควบคุมแบคทีเรีย และแพลงก์ตอนให้ลดลง รวมทั้งทำหน้าที่ผลิตออกซิเจนเติมให้แก่น้ำอีกด้วย โดยใช้เวลาพัก และบำบัดน้ำ และปรับความเค็ม 2 สัปดาห์ ก่อนถ่ายน้ำเข้าสู่บ่อเลี้ยงกุ้ง พักน้ำไว้ประมาณ 7 วัน ก่อนปล่อยลูกกุ้งลงสู่บ่อเลี้ยง โดยใช้อัตราการปล่อยลูกกุ้ง 1 แสนตัวต่อบ่อ 1 ไร่

ส่วนเทคนิคการเลี้ยง จะมีการปรับการให้อาหารเพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ในช่วงแรกของการเลี้ยง จึงให้อาร์ทีเมียตัวเต็มวัยแทนอาหารกุ้ง ใส่ในบ่อเลี้ยงประมาณ 10 กิโลกรัมต่อกุ้ง 100,000 ตัว ก่อนปล่อยลูกกุ้ง 1 วัน และให้ต่อเนื่องในช่วง 7 วันแรกของการเลี้ยง เมื่อครบ 7 วัน จึงให้อาหารสำเร็จรูปทั้ง 5 มื้อ เพื่อรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ และควบคุมเชื้อแบคทีเรียในตัวกุ้ง โดยเติมจุลินทรีย์ที่ผ่านการหมักทั้งในอาร์ทีเมีย และอาหารเม็ดก่อนให้กุ้งกิน ในอัตราส่วน 1 ลิตรต่ออาร์ทีเมีย 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ อาจมีการเสริมวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ในอาหารเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน และช่วยให้กุ้งลอกคราบดีขึ้น

ในช่วงเดือนแรกของการเลี้ยงไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ หลังจากนั้น จึงเติม หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยทำการหมุนเวียนน้ำระหว่างบ่อเลี้ยงกุ้ง และบ่อเลี้ยงสาหร่ายทุกสัปดาห์ หรือตามความเหมาะสม และในระหว่างการเลี้ยงจะมีการเติมจุลินทรีย์ ปม.1 เพื่อรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในน้ำอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการเลี้ยง

นางมนทกานติ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี ยังเน้นให้ความสำคัญต่อลูกกุ้งที่มีคุณภาพ แข็งแรง ที่มาจากโรงเพาะฟักลูกกุ้งที่มีกระบวนการจัดการการเลี้ยงที่มีมาตรฐานสูง รวมทั้งการควบคุมคุณภาพ และตรวจสอบคุณภาพอย่างเคร่งครัดจนมั่นใจได้ว่าลูกกุ้งปราศจากเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค และจากการที่ศูนย์ทดลองใช้พันธุ์ลูกกุ้งของซีพีเอฟมา 4 รอบการเลี้ยงที่ผ่านมา ใช้ระยะการเลี้ยง 70 วัน ประสบความสำเร็จทุกรุ่น ผลผลิต 1,025 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดกุ้งที่จับได้ประมาณ 80 ตัวต่อกิโลกรัม มีอัตราแลกเนื้อประมาณ 1.25 กุ้งมีอัตรารอดร้อยละ 82 ทั้งนี้ กรมประมงยังได้ถ่ายทอดแนวทางการจัดการบ่อกุ้งแบบเพชรบุรีโมเดล และการใช้พันธุ์ลูกกุ้งที่มีมาตรฐานสู่เกษตรกรเพื่อสร้างผลผลิตกุ้งที่ดีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น