xs
xsm
sm
md
lg

รองผู้ว่าฯ นำทีมยันเปลี่ยนชื่อลำปางเป็น “นครลำปาง” มีแต่ได้-ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ลำปาง - รองผู้ว่าฯ ลำปางนำทีมประธานสภาวัฒนธรรม-วัฒนธรรมจังหวัด พร้อม ปชส.ตั้งโต๊ะเปิดแถลงใหญ่ปมเปลี่ยนชื่อ “จังหวัดลำปาง” เป็น “จังหวัดนครลำปาง” หลังชาวบ้านบางส่วนเห็นค้าน ยันไม่มีผลต่อการทำธุรกรรมของประชาชน ชาวบ้านมีแต่ได้ไม่มีเสีย และไม่ต้องทำประชาพิจารณ์

วันนี้ (7 ก.ย.) นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายอุดมศักดิ์ ศักดิ์มั่นวงศ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง, นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง และนายชเนรินทร์ สมินทรปัญญา ประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง ได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีการขอเพิ่มชื่อ “นคร” นำหน้าลำปาง เป็น “จังหวัดนครลำปาง” หลังมีประชาชนบางส่วนวิตกกังวลเกรงว่าเมื่อเพิ่มชื่อแล้วจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะด้านเอกสาร การทำธุรกรรมต่างๆ

นายมงคลกล่าวว่า กรณีที่นายอุดมศักดิ์ ศักดิ์มั่นวงศ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้เสนอขอเพิ่มชื่อจังหวัดจาก “ลำปาง” เป็น “นครลำปาง” นั้น ตามกฎหมายระบุให้เสนอผ่าน 2 ส่วน คือ ขั้นแรกเสนอต่อกรมการจังหวัด (ปัจจุบันคือ การประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลำปาง) ซึ่งขั้นตอนแรกในที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ผู้เสนอได้ให้เหตุผลพร้อมกับหลักฐานที่ปรากฏต่างๆ

โดยตนเอง และผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ก็เห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่าชื่อ “นครลำปาง” มีที่มาที่ไป และเป็นชื่อที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาวลำปาง และคำว่า “นคร” ใช่ว่าจังหวัดไหนต้องการจะใช้ก็ขอได้ หากไม่มีประวัติศาสตร์ภูมิหลังที่เกิดขึ้นจริงก็ไม่สามารถที่จะใช้ได้

ส่วนที่มีกระแสของบางกลุ่มบางคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เมื่อเพิ่ม หรือเปลี่ยนชื่อแล้วจะทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบ ทั้งต้องเปลี่ยนบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และเอกสารในการทำธุรกรรมต่างๆ คงวุ่นวายไปหมดนั้น นายมงคลเปิดเผยว่า ขอให้ประชาชนอย่าได้วิตกกังวลในเรื่องนี้ เพราะประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย เนื่องจากหากมีการเปลี่ยนชื่อ หรือเพิ่มชื่อใดๆ ก็ตามจะมีกฎหมายออกมารองรับทั้งหมด

นายมงคลบอกว่า เหมือนกับเราเปลี่ยนชื่อ ซึ่งชื่อเก่าที่เรามีก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ก็ใช้เอกสารการเปลี่ยนชื่อมาแนบเท่านั้น เช่นเดียวกับเรื่องนี้ เมื่อเรามีบัตรประชาชน บัตรก็มีวันหมดอายุ เมื่อบัตรหมดอายุ และเราต้องไปต่อใหม่ทางราชการ ก็จะต่อบัตรใหม่ให้ในชื่อใหม่

ส่วนทะเบียนบ้านหากไม่มีการเปลี่ยนก็ใช้ของเดิม โฉนดที่ดิน หรือเอกสารทางราชการทุกชนิดที่มีชื่อจังหวัดลำปาง หากมีการเพิ่มนครลำปาง กฎหมายก็จะรองรับเองอัตโนมัติว่าเป็นชื่อเดียวกัน ซึ่งประชาชนไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย จึงอยากให้สื่อประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบด้วย

ส่วนเมื่อผ่านการเสนอในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลำปางแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของสภาจังหวัด คือ สภา อบจ.ลำปาง ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนชาวลำปางทั้งหมดในการออกเสียงว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งผลที่ออกมาทั้งสองด้านทางจังหวัดจะนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณา

“ตามกฎหมายไม่มีการให้ประชาชนทำประชาพิจารณ์แต่อย่างใด เนื่องจากเห็นว่าสภา อบจ.เป็นตัวแทนประชาชนอยู่แล้ว”

ด้านอุดมศักดิ์ ศักดิ์มั่นวงศ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ตนนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการเพื่อพิจารณา เนื่องจากมีประชาชนเสนอเรื่องมาสอบถามถึงชื่อจังหวัดในอดีต และอยากให้กลับไปใช้ชื่อเดิมเพราะถือว่าเป็นรากเหง้าของชาวลำปาง แม้แต่รัชกาลที่ 6 พระองค์ก็มีพระราชดำรัสตอบ และใช้ชื่อ “นครลำปาง” มาตั้งแต่อดีตแล้ว

ประกอบกับเมื่อสืบค้นก็พบหลักฐานปรากฏชัดเจนว่า แต่เดิมเราใช้นครลำปางจริง ซึ่งมีเพียงไม่กี่จังหวัดที่สามารถใช้คำว่านครได้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนลำปาง เพราะ “นคร” หมายถึงความยิ่งใหญ่ นั่นก็หมายถึงว่าสมัยอดีตลำปางของเราเคยยิ่งใหญ่ และเจริญรุ่งเรืองมาก จนต้องใช้คำว่านคร แต่คำว่าจังหวัดนครลำปางได้หายไปจากสารบบ เหลือเพียง “จังหวัดลำปาง” เมื่อปี 2459 จนถึงทุกวันนี้

ที่สำคัญ ลำปาง มีอายุเก่าแก่ถึง 1,300 ปี แต่จะมีการฉลองชื่อ “นครลำปาง 100 ปี” ในเดือนเมษายน ปี 2559 นี้ เพราะได้นับจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฎิรูปมณฑลเทศาภิบาล ได้เปลี่ยนชื่อจังหวัดต่างๆ เข้าสู่การปกครองสมัยใหม่ ในปี 2459 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ทรงเรียกจังหวัดลำปางว่า “นครลำปาง” โดยเฉพาะที่สถานีรถไฟนครลำปาง ก็ใช้มาถึงปัจจุบัน

“ผมจึงอยากเห็นลำปางกลับมาใช้ชื่อเดิมที่ทรงคุณค่าในการฉลองครบรอบ 100 ปี ในปีหน้าด้วย”

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.ย.) ทาง อบจ.ลำปางจะได้มีการจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นของหลายภาคส่วนในเรื่องนี้ก่อนที่สภา อบจ.ลำปางจะมีการโหวตลงคะแนนในโอกาสต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น