xs
xsm
sm
md
lg

รองผู้ว่าฯ กล่อม อบต.ทั้ง จว.-ปูทางใช้ชื่อ “นครลำปาง” อบจ.ยันต้องฟังเสียง ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ลำปาง - รองผู้ว่าฯ เมืองรถม้าเปิดห้องประชุม อบจ. ระดมผู้นำ อบต.13 อำเภออบรมการมีส่วนร่วมภาคทางการเมือง แจกแจงแนวคิดขอเพิ่มชื่อจังหวัดลำปางเป็น “จังหวัดนครลำปาง” ยันกรมการจังหวัด-สภา อบจ.เป็นตัวแทนคนลำปางทั้ง 7 แสนคนได้ ขณะที่รองนายก อบจ.ยันต้องฟังความเห็นประชาชนก่อน ส.อบจ.ออกเสียงแทนชาวบ้านไม่ได้

วันนี้ (8 ก.ย.) นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เป็นประธานเปิดการประชุมอบรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ประจำปี 2558 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง อ.เกาะคา จ.ลำปาง

โดยมี รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง และกรรมการผู้ทรงวุฒิ คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองสว่นท้องถิ่น บรรยายพิเศษหัวข้อ “สิทธิและเสรีภาพพลเมือง” ท่ามกลางผู้นำท้องถิ่น และตัวแทนภาคประชาชนในลำปางกว่า 300 คน เข้าร่วมฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นรวมถึงสอบถามข้อข้องใจ

ในการประชุมครั้งนี้ นายมงคลได้กล่าวถึงความเป็นมาของการขอเพิ่มชื่อจังหวัดจาก “จังหวัดลำปาง” เป็น “จังหวัดนครลำปาง” โดยการเพิ่ม “นคร” เพิ่มเข้าไปว่า เพื่อให้คนลำปางได้ภูมิใจกับชื่อดั้งเดิมของจังหวัดที่เคยใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แต่คำว่า “นคร” เริ่มหายไปในปลายรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

นายมงคลย้ำว่า คำว่า “นคร” หมายถึงความยิ่งใหญ่ เจริญรุ่งเรือง และมีเพียงไม่กี่จังหวัดที่สามารถใช้คำว่านครนำหน้าจังหวัดได้ หากไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่สามารถระบุได้ก็นำมาใช้ไม่ได้ แต่จังหวัดนครลำปางเดิมเคยใช้มาแต่หายไป หากได้ชื่อเดิมกลับคืนมาก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีและสามารถเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานได้อย่างภาคภูมิใจ

ส่วนที่มีการพูดว่าหากมีการเปลี่ยนแล้วจะทำให้บ้านเมือง หรือเศรษฐกิจของลำปางดีขึ้นหรือไม่ ตนขอบอกว่า การเพิ่มชื่อและกลับไปใช้ชื่อเดิมนั้นเป็นภาพลักษณ์ และความภูมิใจของคนลำปาง คงไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจของลำปาง ซึ่งเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับคนลำปาง ยุทธศาสตร์ของจังหวัดในการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ มากกว่า

ที่สำคัญการเพิ่มชื่อดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อประชาชน ไม่ว่าจะด้านเอกสารราชการทุกชนิด ส่วนที่หลายคนเป็นห่วงว่าจะต้องเสียเงินไปกับการเปลี่ยนป้ายชื่อต่างๆ ซึ่งจะสิ้นเปลืองภาษีของประชาชนนั้น ตนเห็นว่าคงไม่มากเมื่อเทียบกับภาพลักษณ์ของจังหวัด

นายมงคลยังคงยืนยันถึงขั้นตอนการขอเพิ่มชื่อจังหวัดว่า ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท.2005/3/ว 1266 ลงวันที่ 9 เมษายน 2547 กำหนดขั้นตอนวิธีการขอเปลี่ยนชื่อจังหวัดจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1. กรมการจังหวัด (การประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด) และ 2. สภาจังหวัด (สภา อบจ.ลำปาง) ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนชาวลำปางกว่า 700,000 คน

ขณะที่นายเกรียงเดช สุทธภักติ รองนายก อบจ.ลำปาง รักษาการนายก อบจ.ลำปาง ได้ยืนยันว่า จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน สมาชิก อบจ.ลำปางไม่สามารถออกเสียงแทนประชาชนได้ ตามหนังสือ มท 0204/ว 695 ลงวันที่ 14 ก.ค. 2520 ออกโดยนายชะลอ วนะภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถึงกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เรื่อง ทบทวนหลักเกณฑ์การขอเปลี่ยนชื่อจังหวัด อำเภอ และหมู่บ้าน หรือสถานที่ราชการอื่นๆ ว่าต้องปฏิบัติ 5 ข้อ คือ

1. เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงชื่อ ต้องประกอบด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และรายละเอียดในอรรถาธิบายศัพท์

2. ชื่อที่ขอเสนอเปลี่ยนแปลง ต้องไม่ขัดต่อวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วย

3. การเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงชื่อใดๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ในท้องที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อนั้นๆ โดยแนบเอกสารหลักฐานต่างๆ เช่น รายงานการประชุมต่างๆ หรือบัญชีรายชื่อแสดงความยินยอมของราษฎร เป็นต้น

4. รายงานประวัติ ความเป็นมา ข้อเท็จจริงของสถานที่ที่ต้องการขอเปลี่ยนชื่อนั้นโดยละเอียด

5. ทำแผนที่โดยสังเขปแสดงที่ตั้งของสถานที่ที่จะขอเปลี่ยนชื่อ และแสดงสถานที่ใกล้เคียงที่สำคัญอื่นๆ ไว้ด้วย ในการนี้ กระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจ เจ้าของเรื่องควรแจ้งให้ผู้ที่เสนอขอเปลี่ยนชื่อได้ทราบหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นเพื่อถือปฏิบัติ และให้ส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ครบถ้วนแนบมาพร้อมกับการขอเปลี่ยนชื่อ จำนวน 12 ชุด ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการเปลี่ยนชื่อจังหวัดฯ

ทั้งนี้ ในวันนี้หลังจากที่ชี้แจงความเป็นมาของการขอเพิ่มชื่อแล้ว จะได้มีการแบ่งกลุ่มสำหรับผู้ที่เข้ามาร่วมในการประชุมเพื่อเสนอความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น