xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเอกชนร่อน จม.เปิดผนึก ค้านเปลี่ยนชื่อ “จังหวัดนครลำปาง” ยันต้องทำประชาพิจารณ์ทั้งจังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ที่ปรึกษาสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง
ลำปาง - ภาคเอกชนเมืองรถม้าออกจดหมายเปิดผนึกค้านเปลี่ยนชื่อ “ลำปาง” กลับไปใช้ชื่อ “นครลำปาง” เหมือนในอดีต ชี้ชัดส่งผลกระทบต่อคนลำปางทุกคน ทั้งการทำนิติกรรม เศรษฐกิจ สังคม บอกถ้าจะทำต้องจัดประชาพิจารณ์ทั้งจังหวัด ไม่ใช่แค่ให้จังหวัด-สภ.อบจ.ยกมือผ่าน

วันนี้ (7 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ลำปาง เสนอในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ให้จังหวัดลำปางเปลี่ยนไปใช้ชื่อ “จังหวัดนครลำปาง” เหมือนในอดีต และได้รับการเห็นชอบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนสุดท้ายคือ ความเห็นชอบของ อบจ.ลำปาง

ซึ่งเรื่องดังกล่าวกลับกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมลำปาง เมื่อบางส่วนได้นำเรื่องการเพิ่มชื่อดังกล่าวไปแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ โดยระบุเพียงข้อวิตกกังวลหากมีการเพิ่มชื่อดังกล่าว โดยไม่มีการให้ข้อมูลที่รอบด้านทั้งหมด จนเกิดกระแสคัดค้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดนายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ที่ปรึกษาสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกมาตั้งกระทู้คัดค้านในเรื่องดังกล่าวผ่านทางสังคมออนไลน์ ระบุว่า การเปลี่ยนชื่อ “จังหวัดลำปาง” ให้เป็น “จังหวัดนครลำปาง” ไม่ให้มีการเปลี่ยนชื่อโดยพลการ จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวลำปางก่อน

นอกจากนี้ยังได้ออกจดหมายเปิดผนึกแสดงความเห็น และตั้งคำถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ดร.อุดมศักดิ์ ศักดิ์มั่นวงค์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง โดยมีเนื้อหาจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ตามที่กระแสข่าวการขอเปลี่ยนชื่อจังหวัดลำปางกลับไปใช้ชื่อจังหวัดนครลำปาง ซึ่งเป็นชื่อจังหวัดที่เคยใช้อยู่เดิมเมื่อ 100 ปีก่อน โดยอาศัยเหตุผลของการที่เจ้าหน้าที่ในขณะนั้นเขียนตกหล่น ประกอบการขอเปลี่ยนชื่อจังหวัด และมีการพิจารณาผ่านจังหวัด ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการมาเป็นลำดับ และมีการนำเรื่องส่งให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางพิจารณา ตามข้อระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนชื่อจังหวัดนั้น

ในฐานะประชาชนชาวลำปางผู้มีส่วนได้เสียในข้อ 3 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 มีความเห็นว่า การเปลี่ยนชื่อจังหวัดเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าที่คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งพึงพิจารณาออกความเห็นเพียงลำพัง เนื่องจากการเปลี่ยนชื่อจังหวัดกระทบต่อประชาชนชาวจังหวัดลำปางทั้งจังหวัดในหลายมิติ ทั้งทางนิติกรรม ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมแวดล้อม รวมตลอดถึงความรู้สึกคุ้นเคยกับชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาเป็นเวลา 100 ปี

สำหรับเหตุผลของสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปางเพื่อประกอบการเปลี่ยนชื่อจังหวัดยังไม่มีความชัดเจนอย่างเพียงพอเกี่ยวกับข้อดี และข้อเสียของการพิจารณาเปลี่ยนชื่อจังหวัด ทั้งที่มีผลกระทบเกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางต่อประชาชนชาวจังหวัดลำปางโดยตรง ประกอบกับไม่มีการกล่าวแจ้งให้ประชาชนชาวจังหวัดลำปางทราบถึงแนวคิดในการขอเปลี่ยนชื่อจังหวัดด้วย

นอกจากนี้ การพิจารณาเพียงเฉพาะมิติของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเพียงด้านเดียวไม่อาจเพียงพอต่อองค์ประกอบรวมของสังคม ที่ยังมีมิติด้านเศรษฐกิจ และสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยโดยตรง

ด้านการส่งเรื่องการเปลี่ยนชื่อจังหวัดให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางพิจารณา โดยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางในฐานะตัวแทนประชาชนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนนั้น แม้จะเป็นไปตามกรอบข้อระเบียบปฏิบัติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนชื่อจังหวัดก็ตาม แต่การดำเนินการเปลี่ยนชื่อจังหวัดนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนชาวจังหวัดลำปาง จึงควรพิจารณาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวจังหวัดลำปางโดยตรงผ่านการทำประชาพิจารณ์ให้ครอบคลุมประชากรชาวจังหวัดลำปางโดยส่วนใหญ่

ทั้งนี้ มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 7 และข้อ 8 ประกอบ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภายหน้า อันอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิต หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนหรือสังคม และอาจนำไปสู่ข้อโต้เถียงหลายฝ่าย

นายอธิภูมิระบุด้วยว่า ในฐานะประชาชนชาวลำปางผู้มีส่วนได้เสีย ขอให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ และเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่ของประชาชนชาวจังหวัดลำปางโดยตรง มากกว่าการพิจารณาเปลี่ยนแปลงชื่อจังหวัดโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกลุ่มหนึ่งด้วยอาศัยหลักแห่งกฎหมายเพียงประการเดียว การนำหลักรัฐศาสตร์มาพิจารณาประกอบเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และควรให้น้ำหนักความสำคัญมากกว่าปกติเช่นกัน

นายอธิภูมิกล่าวว่า จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ตนจะนำไปยื่นต่อสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ที่หอประชุม อบจ.ลำปาง ในวันที่ 8 กันยายน 2558 ที่ อบจ.ลำปาง จะจัดโครงการฝึกอบรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย ประจำปี 2558 โดยจะมีวาระที่จะมีการเปิดเวทีเพื่อประชุมหารือแนวทางการขอใช้ชื่อจังหวัดลำปาง เป็น “จังหวัดนครลำปาง” ด้วย

ขณะที่นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เชิญสื่อมวลชนร่วมรับฟังการแถลงข่าวในเรื่องดังกล่าว ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดลำปาง ในวันนี้ (7 ก.ย.) ก่อนที่จะมีการประชุมที่ อบจ.ลำปางในวันพรุ่งนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น