ศูนย์ข่าวศรีราชา - คนพัทยาเห็นชอบแนวทางที่ 5 สร้างเขื่อนกันคลื่น และเสริมทรายระยะ 35 เมตร งบกว่า 1,040 ล้านบาท ตามโครงการแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน ซึ่งจัดขึ้นเป็นรอบที่ 2 ด้านผู้จัดทำเตรียมลงพื้นที่ศึกษา หาบทสรุปก่อนนำเสนอผู้เกี่ยวข้อง
วันนี้ (7 ก.ย.) กรมเจ้าท่า โดยความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้จัดทำโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากประชาชน และผู้ประกอบการเป็นครั้งที่ 2 ณ สถานอบรมคริสเตียนแบ๊บติส พัทยา โดยการประชุมครั้งนี้เป็นนำเสนอแนวทางเลือกของโครงการที่เหมาะสม และการกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อสรุปหารูปแบบแนวทางที่เหมาะสมของการดำเนินโครงการต่อผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่กลุ่มผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาด ผู้ประกอบ การธุรกิจ ผู้นำชุมชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี เผยว่า สำหรับปัญหาของพื้นที่ชายหาดจอมเทียนในระยะ 14 กม.ได้รับผลกระทบจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี และด้วยสาเหตุด้านกายภาพทำให้ชายหาดจอมเทียนมีปริมาณมวลทรายสุทธิเคลื่อนที่ขึ้นเหนือปีละกว่า 80,000 ลบ.ม. เมื่อไม่มีตะกอนทรายชายฝั่งทิศใต้ไหลเข้ามาได้พอเพียงจึงทำให้เกิดการขาดสมดุลทรายชายฝั่ง
ทั้งนี้ ด้วยการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ถนนเลียบชายฝั่งสาธารณะ พร้อมกำแพงคอนกรีตป้องกันตลิ่ง โครงสร้างป้องกันการกัดเซาะเป็นกำแพง คสล. ทำให้เกิดคลื่นเข้าปะทะกับกำแพงจนเกิดการสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ประกอบกับการขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างถูกต้อง ทำให้จากการศึกษาข้อมูลความเปลี่ยนแปลงชายฝั่งบริเวณพื้นที่เมืองพัทยาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า มีอัตราการกัดเซาะระดับรุนแรงปานกลาง มีการกัดเซาะมากกว่า 2 เมตรต่อปี เมืองพัทยาจึงมีแนวคิดการแก้ไขปัญหาโดยให้กรมเจ้าท่าเป็นแม่งานในการวางผังแม่บทการเสริมทรายชายหาดป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียนขึ้น โดยคณะทำงานได้มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่วิกฤต โดยนำเสนอรูปแบบ และแนวทางเลือกออกเป็น 6 แนวทาง เพื่อให้ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสีย
สำหรับแนวทางป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดจอมเทียนทั้ง 6 แนวทาง ซึ่งทั้ง 5 แนวทางจะมีการเสริมทรายออกไปในระยะ 35 เมตร เพียงแต่จะแตกต่างกันที่แนวทางที่ 1 จะมีเพียงการเสริมทรายเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการก่อสร้างโครงสร้างอื่นเพิ่มเติม แนวทางที่ 2 จะมีการก่อสร้างสันเขื่อนกันคลื่นแบบจมน้ำ แนวทางที่ 3 จะมีการก่อสร้างหัวหาด และจัดสวนสาธารณะ แนวทางที่ 4 จะมีการก่อสร้างคันดักทราย และจัดสวนสาธารณะ แนวทางที่ 5 จะมีการก่อสร้างหัวหาดร่วมกับเขื่อนกันคลื่น และจัดสร้างสวนสาธารณะ ขณะที่แนวทางที่ 6 คือ ไม่ดำเนินการกิจกรรมใดๆ และคงสภาพไว้เช่นเดิม
จากการสอบความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่า ส่วนใหญ่จะเลือกแนวทางเลือกที่ 5 ในการดำเนินการ ซึ่งแนวทางนี้จะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี 3 เดือน ในงบประมาณ 1,040 ล้านบาท ซึ่งทางคณะทำงานจะได้นำเอาข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาขอบเขตการลงพื้นที่ ศึกษาหารายละเอียดดำเนินงาน และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนนำข้อมูลจากการลงพื้นที่มานำเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง