ศูนย์ข่าวศรีราชา - จัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 โครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี เสนอ 6 แนวทางเลือก ยังไม่ได้ข้อสรุป
วันนี้ (9 มิ.ย.) กรมเจ้าท่า โดยความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้จัดทำโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 ที่ห้องประชุมโรงแรมแกรนด์จอมเทียน พาเลซ จ.ชลบุรี
โดยครั้งนี้เป็นการนำเสนอรูปแบบ และแนวทางการศึกษามาสอบถามความคิดเห็นต่อผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการร่มเตียง ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ผู้นำชุมชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอรูปแบบ และแนวทางการแก้ไขปัญหา
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี เผยว่า ชายหาดจอมเทียนอยู่ในพื้นที่การดูแลของเมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลนาจอมเทียน โดยชายหาดจอมเทียนที่เป็นพื้นที่ของโครงการนั้นเริ่มตั้งแต่ปลายแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ มาจนถึงบริเวณสันเขื่อนกันคลื่นของโอเชี่ยนมารีน่า ยอร์ช คลับ รวมระยะทางประมาณ 14 กม. ปัญหาของพื้นที่ชายหาดจอมเทียนจะได้รับผลกระทบจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี และด้วยสาเหตุด้านกายภาพทำให้ชายหาดจอมเทียนมีปริมาณมวลทรายสุทธิเคลื่อนที่ขึ้นเหนือปีละ 79,769 ลบ.ม. เมื่อไม่มีตะกอนทรายชายฝั่งทิศใต้ไหลเข้ามาได้พอเพียงจึงทำให้เกิดการขาดสมดุลทรายชายฝั่ง
ทั้งนี้ ด้วยการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ถนนเลียบชายฝั่งสาธารณะ พร้อมกำแพงคอนกรีตป้องกันตลิ่ง โครงสร้างป้องกันการกัดเซาะเป็นกำแพง คสล. ทำให้เกิดคลื่นเข้าปะทะกับกำแพงจนเกิดการสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ประกอบกับการขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างถูกต้อง ทำให้จากการศึกษาข้อมูลความเปลี่ยนแปลงชายฝั่งบริเวณพื้นที่เมืองพัทยาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า มีอัตราการกัดเซาะระดับรุนแรงปานกลาง มีการกัดเซาะมากกว่า 2 เมตรต่อปี เมืองพัทยาจึงมีแนวคิดการแก้ไขปัญหาโดยให้กรมเจ้าท่าเป็นแม่งานในการวางผังแม่บทการเสริมทรายชายหาด ป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียนขึ้น
โดยคณะทำงานได้มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่วิกฤต โดยแบ่งพื้นที่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดจอมเทียนออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย 1.ทาเรือโอเชี่ยนมารีน่าถึงร้านอาหารลุงไสว ระยะทาง 3.6 กม. 2.ร้านอาหารลุงไสว ถึงซอยจอมเทียน 19 ระยะทาง 1.05 กม. 3.ซอยจอมเทียน 19 ถึงซอยจอมเทียน 14 ระยะทาง 1.45 กม. 4.ซอยจอมเทียน 14 ถึงโขดหินใต้น้ำ ระยะทาง 3.9 กม. และ 5.โขดหินใต้น้ำ ถึงแหลมบาลีฮาย ระยะทาง 3.3 กม.
ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอรูปแบบและแนวทางเลือกออกเป็น 6 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 เสริมทรายชายหาดกว้างอย่างน้อย 35 ม. แนวทางเลือกที่ 2 ก่อสร้างสันเขื่อนกันคลื่นแบบจมน้ำ เสริมทรายกว้างอย่างน้อย 35 ม. แนวทางเลือกที่ 3 ก่อสร้างหัวหาด และจัดสวนสาธารณะ เสริมทรายกว้างอย่างน้อย 35 ม. แนวทางเลือกที่ 4 ก่อสร้างคันตักทราย และจัดสวนสาธารณะ เสริมทรายกว้างอย่างน้อย 35 ม.แนวทางที่ 5 ก่อสร้างหัวหาดร่วมกับเขื่อนกันคลื่น และจัดสวนสาธารณะ เสริมทรายกว้างอย่างน้อย 35 ม. และแนวทางที่ 6 ปล่อยไว้ไม่ต้องทำอะไรเลยโดยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การนำเสนอทั้ง 6 แนวทางเลือก ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการพูดคุย และถามข้อสงสัยทั้งเรื่องระยะเวลาการดำเนินการ และเรื่องงบประมาณในแต่ละแนวทางว่ามีความสมเหตุสมผล และคุ้มค่าต่อการลงทุนมากน้อยขนาดไหน ซึ่งทำให้ไม่สามารถสรุปรูปแบบได้อย่างชัดเจนภายในวันนี้ ซึ่งทางคณะทำงานจะได้นำเอาข้อมูลจากการจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้ง 2 ไปพิจารณาหาแนวทางความต้องการของผู้มีผลได้ผลเสียอีกครั้ง ก่อนศึกษางบประมาณ และขอบเขตของแต่ละแนวทางมานำเสนออีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ครั้งที่ 1 ในการเปิดเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 ซึ่งจะเป็นกลุ่มประชุมที่มีความหลากหลาย จะมีทั้งนักวิชาการ NGO ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอีกครั้งในเร็ววันนี้ต่อไป