ศูนย์ข่าวศรีราชา - เมืองพัทยา ร่วมกับกรมเจ้าท่า เสริมทรายชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี หลังพบว่า สภาพชายหาดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง จนทำให้ชายหาดหายไปแล้วกว่า 70% หากยังไม่มีแผนแก้ไข ชายหาดอาจหมดไปในเวลา 3-5 ปีนี้ ส่งผลกระทบการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง เผยโครงการนี้ได้ประโยชน์ 2 ทาง ทั้งแก้กัดเซาะ และส่งเสริมท่องเที่ยวระยะยาว
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ชายหาดเมืองพัทยามีปัญหาถูกน้ำทะเลกัดเซาะเป็นอย่างมาก ทำให้เนื้อที่ชายหาด โดยเฉพาะบริเวณพัทยาเหนือ ถึงพัทยาใต้ มีความกว้างเพียง 3-5 เมตร และมีนัยสำคัญที่บ่งชี้ว่า หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ชายหาดสูญหายไปจนหมดสภาพในระยะเวลาอันใกล้
ซึ่งเรื่องนี้เมืองพัทยาไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามสำรวจ ศึกษาผลกระทบ รวมทั้งชี้แจงผลเสียที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาแก้ไข เนื่องจากถือเป็นเรื่องระดับชาติ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองคงไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังได้ แต่ก็พบว่า ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก กระทั่งกรมเจ้าท่า ได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมเข้ามาศึกษา สำรวจ และวางแผนแม่บทในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งบประมาณกว่า 13 ล้านบาท เพื่อทำศึกษา และทำแผนตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง
โดยได้ลงพื้นที่ และดำเนินการไปแล้ว พร้อมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ก่อนนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อขอรับความคิดเห็น จากนั้นนำเรื่องเสนอต่อภาครัฐเพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการแก้ไข
ซึ่งท้ายที่สุด ได้กำหนดแผนให้มีการถมทรายในระยะ 35 เมตร จากแนวสันเขื่อนออกไปในทะเล ตลอดระยะความยาวกว่า 3 กิโลเมตร จากพัทยาเหนือ ถึงพัทยาใต้ โดยได้รับการอนุมัติงบประมาณจากภาครัฐแล้ว 430 ล้าน จัดสรรเป็นงบประมาณผูกพัน ปี 2557-2558 โดยงบประมาณในปีแรกได้อนุมัติมา 64,500,000 บาท กรมเจ้าท่า จึงได้ทำการประกาศให้ภาคเอกชนที่สนใจเสนอตัวเข้ามารับเหมา กระทั่งได้บริษัทกิจการร่วมค้ามารีน คอนสตรัคชั่น ดำเนินการภายในเดือนมิถุนายนนี้
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสภาพชายหาดพัทยา แต่เดิมในปี 2495 พบว่า ชายหาดพัทยามีเนื้อที่รวมกว่า 60 ไร่ มีความกว้างของชายหาดถึง 35.6 เมตร ขณะที่ปี 2554 ชายหาดพัทยา มีเนื้อที่เหลือเพียง 8.5 ไร่ ความกว้างเหลือเพียง 3.5-5 เมตร โดยพบว่า ค่าเฉลี่ยของการถูกกัดเซาะอยู่ที่ 1.8 เมตรต่อปี หรือประมาณทรายที่หายไปเฉลี่ย 10,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี โส่วนใหญ่จะไปตกตะกอนอยู่ในอ่าว ห่างจากฝั่งประมาณ 500-1,000 เมตร
สาเหตุหลักเกิดจากโครงสร้างอาคาร ท่าจอดเรือ การใช้ที่ดิน และการระบายน้ำของเมืองพัทยาเป็นหลัก ซึ่งหากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าในระยะเวลาไม่เกิน 3-5 ปีนี้ ชายหาดพัทยา จะถูกกัดเซาะจนหายไปทั้งหมดจนถึงแนวคันหินที่สร้างไว้ โดยเฉพาะในช่วงพื้นที่จากบริเวณพัทยากลาง ถึงพัทยาใต้
สำหรับแนวทางการเสริมทรายดังกล่าว จะนำทรายมาจากแหล่งทรายที่เหมาะสม จำนวน 3.6 แสน ลบ.ม. ขนส่งมาทางทะเลมาพักไว้บริเวณจุดพักกลางอ่าวหน้าชายหาดพัทยา ห่างจากฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก่อนจะนำทรายมาพ่นเติมชายหาดด้วยเรือดูดขนาดใหญ่ กำหนดความกว้างของชายหาด 35 เมตร พร้อมแนวกันชนระยะ 15 เมตร รวมทั้งคันดักทราย 2 ตัว บริเวณพัทยาเหนือ และพัทยาใต้ยาว 50 เมตร ใช้ระยะเวลาดำเนินการกว่า 18 เดือน
อย่างไรก็ตาม โครงการเสริมทรายชายหาดพัทยานั้น แม้จะทำให้สภาพชายหาดมีความกว้างเพิ่มมากขึ้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่จากสภาพของภูมิอากาศ และการไหลเวียนของน้ำทะเลที่มีผลกระทบมาจากโครงสร้างชายหาดที่เปลี่ยนไป ย่อมมีผลทำให้การกัดเซาะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางผู้ศึกษาคาดการณ์ว่า หลังการเสริมทรายไปแล้วชายหาดพัทยาจะถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนถึงแนวกันชนในระยะเวลา 15 ปี
นอกจากนี้ ปัญหาหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังโครงการเสริมทรายชายหาด คงจะเป็นปัญหาในเรื่องการระบายน้ำฝน โดยเฉพาะระบบการรองรับน้ำบริเวณถนนสายชายหาด ซึ่งพบว่า ในคราวฤดูน้ำฝนหรือช่วงน้ำหลากจะมีปริมาณน้ำไหลท่วมเอ่อล้นจากฝั่งตะวันออกลงสู่ชายหาดเมืองพัทยาเป็นจำนวนมาก โดยกรณีนี้อาจเป็นปัญหาสำคัญ และอาจเป็นผลกระทบประการหนึ่งที่จะส่งผลให้ชายหาดเมืองพัทยา หลังการเสริมทรายถูกน้ำฝนกัดเซาะลงสู่ทะเลจนเกิดความเสียหายได้
กรณีนี้ เมืองพัทยารับทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างดี จึงนำเสนอญัตติต่อสภาเมืองพัทยา เพื่อจัดสรรงบประมาณการแก้ปัญหาน้ำท่วมรองรับโครงการเสริมทรายชายหาด ก่อนที่สภาเมืองพัทยา จะให้ความเห็นชอบผ่านงบประมาณสะสม 192 ล้าน ทำโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำบริเวณชายหาดเมืองพัทยาอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา
สำหรับแผนของการรองรับปัญหาดังกล่าว ทางกองช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา ได้นำเสนอแบบและแผนการก่อสร้างระบบระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำ และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดพัทยา 3 จุด คือ 1.การก่อสร้างและวาง Box Culvert ขนาด 3.00x5.80 เมตร ต่อเชื่อมบ่อรวบรวมน้ำ (CSO) ความยาวประมาณ 47 เมตร ใกล้สถานีสูบน้ำเสียพัทยาใต้
2.การก่อสร้างบ่อรวบรวมน้ำ (CSO) ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 11 เมตร ลึก 3.00 เมตร พร้อมต่อเชื่อม และวางท่อ HDPE ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ลงใต้ท้องพื้นทะเลความยาวประมาณ 1,245 เมตร บริเวณตรงข้ามซอยพัทยา 6/1
3.การก่อสร้างและวางท่อ HDPE ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตร ความยาวประมาณ 200 เมตร บริเวณพัทยาเหนือ ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณน้ำที่ไหลบ่าเข้ามาเป็นจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เมืองพัทยาในหลายจุดลดลง ขณะที่ผลกระทบต่อโครงการเสริมทรายชายหาดก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
โครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นภายในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ สังคมทั่วไปกำลังจับตามองดูอยู่ว่า การดำเนินโครงการนี้จะเป็นรูปธรรม และเกิดผลดีต่อภาพรวมอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ ในระยะเวลาอันใกล้หลังดำเนินการแล้วเสร็จ ปัญหาการกัดเซาะชายหาดซึ่งถือว่าเป็นจุดขายสำคัญของเมืองท่องเที่ยวชายทะเล จะยืดระยะเวลาไปอีก 10-15 ปี ขณะที่ผลบวกประการที่ 2 คงทำให้ภาพความสวยงามของชายหาดในอดีตกลับคืนมาอีกครั้ง และส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของเมืองพัทยาดั่งเช่นอดีต ที่เคยเป็นที่ต้องตาต้องใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกอีกครั้ง