xs
xsm
sm
md
lg

เมืองพัทยา ประกาศความพร้อมโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกเมืองพัทยาเรียกประชุมประชาคม ประกาศความพร้อมโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา

วันนี้ (21 ม.ค.) นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมร่วมกับตัวแทนจากกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม สถาบันวิจัยทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจการร่วมค้ามารีน คอนสตรัคชั่น สมาชิกสภาเมืองพัทยา หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนองค์กรภาคธุรกิจเอกชน ผู้นำชุมชน และผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาดเมืองพัทยา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการจัดทำโครงการเสริมทรายชายหาดเมืองพัทยา ซึ่งจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายนนี้

นายอิทธิพล กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายหาดเมืองพัทยาเกิดขึ้นมานานหลายปี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา เมืองพัทยาจึงได้ร่วมกับกรมเจ้าท่า และสถาบันวิจัยทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาทำการศึกษาและหานัยสำคัญของปัญหาจนพบว่า มีการกัดเซาะอย่างรุนแรง และหากปล่อยไว้ชายหาดเมืองพัทยาอาจหดหายไปในระยะเวลาไปถึง 10 ปี

ดังนั้น จึงได้ประสานงานร่วมกัน โดยมีกรมเจ้าท่า เป็นเจ้าภาพในการเสนอขอจัดสรรงบประมาณเพื่อมาดำเนินการเสริมทรายชายหาดคืนสภาพแหล่งท่องเที่ยวให้กลับมามีความสมบูรณ์อีกครั้ง กระทั่งได้รับงบประมาณสนับสนุน จำนวน 430 ล้านบาท เพื่อมาจัดทำโครงการตลอดแนวชายหาดในระยะ 2.8 กิโลเมตร เป็นที่แรกของประเทศ

ปัจจุบัน ได้มีการลงนามว่าจ้างกิจการร่วมค้า มารีน คอนสตรัคชั่น เข้ามาจัดทำ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการในระหว่างเดือนธันวาคม 2557 ถึงเดือนมิถุนายน 2559 หลังดำเนินการแล้วเสร็จก็จะทำให้ชายหาดมีความสมบูรณ์ และสวยงาม สมกับความเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลระดับโลกอีกครั้ง

ด้าน นายภานุ พาสัก ผอ.ส่วนวิศวกรรมทางทะเล กรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่ามีภารกิจสำคัญในการป้องกันปัญหาการกัดเซาะอยู่แล้ว และด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเมืองพัทยา จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันโครงการเสริมทรายชายหาดมีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว

สำหรับรูปแบบของการเสริมทรายนั้นจะเป็นการลงกันแนวพื้นที่ชายหาด ซึ่งจะเริ่มต้นการก่อสร้างศูนย์ดำเนินการ พร้อมเสริมทรายจากช่วงหาดพัทยาใต้เป็นจุดแรก ไล่ไปยังชายหาดพัทยาเหนือ โดยจะทำการขุดแนวชายหาดวางถุงทรายแบบ Ge-o Textile ในระยะ 15 เมตรแรกจากแนวสันเขื่อน

ก่อนใช้เรือบรรทุกทรายขนาดใหญ่ หรือ Hopper Barge จำนวน 2 ลำ ที่เตรียมนำเข้าจากประเทศจีน ไปดูดทรายจากใต้ทะเลบริเวณเกาะครามน้อย ซึ่งจะอยู่ห่างจากฝั่งพัทยาประมาณ 25 กิโลเมตร ครั้งละประมาณ 3,000-4,000 ลบ.ม.แล้วขนย้ายมาจอดยังริมอ่าวพัทยา ที่จะมีการจัดตั้งสถานีสูบทราย หรือ Pump Station ห่างจากฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร เพื่อดูดทรายจากเรือผ่านท่อส่งซึ่งวางใต้น้ำมาพ่นเสริมทรายบนพื้นที่ชายหาดเพื่อเติมทรายให้มีระดับความลึกประมาณ 2.8 เมตร และกว้างจากฝั่งออกไปในทะเลกว่า 50 เมตร

โดยจะมีการทำเป็นช่วงๆ ละ 300 เมตร ซึ่งจะกินเวลาการเสริมทรายช่วงละ 1 เดือน รวม 9 ช่วงตลอดแนวชายหาดเป็นเวลารวมกว่า 9 เดือน ทั้งนี้ จะใช้ทรายตลอดแนวรวมกว่า 363,470 ลบ.ม. ก็จะแล้วเสร็จ พร้อมกันนี้ ยังจะได้จัดทำจุดพักทรายขนาดใหญ่บริเวณหัวหาดพัทยาเหนือ ใกล้โรงแรมดุสิตธานี เพื่อใช้เป็นทรายสำรอ งและให้เมืองพัทยาใช้ประโยชน์จากการทำกิจกรรมสันทนาการอีกด้วย

ขณะที่ นายวิรัตน์ จิระศรีไพฑูรย์ ผอ.กองช่างสุขาภิบาล เมืองพัทยา กล่าวว่า โครงการเสริมทรายชายหาดเมืองพัทยา ถือว่าเป็นโครงการสำคัญที่จะสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยวให้แก่เมืองพัทยาในอนาคต แต่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าหากปล่อยให้มีการดำเนินการโครงการเสริมทรายเพียงอย่างเดียว โดยเมืองพัทยาไม่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายหาดในอนาคตก็จะทำให้โครงการประสบปัญหาได้

กรณีดังกล่าว นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา จึงมอบหมายให้กองช่างสุขาภิบาล ทำการศึก ษา สำรวจ และออกแบบระบบในโครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบระบายน้ำ บริเวณชายหาดเมืองพัทยา อย่างเต็มรูปแบบไปในคราวเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง และสมประโยชน์ต่อทั้ง 2 โครงการ จึงได้ทำการออกแบบ และนำเสนอแผนเกี่ยวกับระบบดังกล่าว เพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำ และป้องกันการกัดเซาะชาย ฝั่งบริเวณหาดพัทยา จำนวน 3 จุด

คือ 1.การก่อสร้างและวาง Box Culvert ขนาด 3.00x5.80 เมตร ต่อเชื่อมบ่อรวบรวมน้ำ (CSO)ความยาวประมาณ 47 เมตร ใกล้สถานีสูบน้ำเสียพัทยาใต้ 2.การก่อสร้างบ่อรวบรวมน้ำ (CSO) ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 11 เมตร ลึก 3.00 เมตร พร้อมต่อเชื่อมและวางท่อ HDPE ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ลงใต้ท้องพื้นทะเลความยาวประมาณ 1,245 เมตร บริเวณตรงข้ามซอยพัทยา 6/1 และ 3.การก่อสร้างและวางท่อ HDPE ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตร ความยาวประมาณ 200 เมตร บริเวณพัทยาเหนือ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 192,800,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะสามารถรองรับปริมาณน้ำที่ไหลบ่าเข้ามาเป็นจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็จะส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เมืองพัทยาในหลายจุดลดลง ขณะที่ผลกระทบต่อโครงการเสริมทรายชายหาดก็จะไม่เกิดขึ้น

โครงการดังกล่าวผู้บริหารจะเร่งจัดทำแบบพร้อมบทสรุปที่ชัดเจนเพื่อเสนอต่อสภาเมืองพัทยาในการขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม เพื่อลงมาดำเนินการอย่างเร่งด่วนภายในอาทิตย์หน้านี้

กำลังโหลดความคิดเห็น