ตรัง - กรมเจ้าท่า วางแผนเตรียมสร้างท่าเทียบเรือปากเมงใหม่ เหตุมีสภาพชำรุดทรุดโทรม และไม่ค่อยปลอดภัย เพราะใช้งานมานานกว่า 20 ปีแล้ว และบางวันมีผู้มาใช้บริการมาก 2-3 พันคน
นายกิตติรัศมิ์ เมธีกุล วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ในฐานะประธานกรรมการกำกับการศึกษาสำนักวิศวกรรม กล่าวว่า กรมเจ้าท่าได้จัดทำโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบปรับปรุงท่าเทียบเรือปากเมง ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง สืบเนื่องจากเป็นท่าเทียบเรือที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงไฮซีซัน วันละไม่ต่ำกว่า 1,300-1,500 คน แต่ปัจจุบันท่าเทียบเรือได้ก่อสร้าง และผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน จึงมีสภาพชำรุดทรุดโทรม หรือไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร
ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ การท่องเที่ยว และยกระดับการพัฒนาความปลอดภัยการใช้งานท่าเทียบเรือ กรมเจ้าท่า ซึ่งมีหน้าที่ภารกิจที่ต้องรับผิดชอบในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ การก่อสร้างท่าเทียบเรือ การรักษาร่องน้ำ รักษาสภาพร่องน้ำ การกระจายร่องน้ำและคลื่น ตลอดจนถึงการก่อสร้างกั้นการกัดเซาะชายฝั่ง จำเป็นที่จะต้องเร่งทำการบำรุงดูแลรักษาเพื่อความปลอดภัยต่อการใช้งาน และแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องเหมาะสม จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีความชำนาญเข้ามาศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือปากเมงแห่งใหม่
ทั้งนี้ การศึกษาจะต้องให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และให้พื้นที่ได้มีส่วนร่วม จึงมีโครงการประชาสัมพันธ์ จำนวน 3 ครั้ง ต่อระยะเวลาการศึกษาโครงการ โดยเริ่มจากการปฐมนิเทศโครงการเพื่อให้ได้รับทราบขอบเขต รายละเอียด และวิธีการศึกษาโครงการ จากนั้นก็จะรับฟังข้อมูลของหน่วยงานราชการในพื้นที่ และองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปใช้ศึกษาให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2558 หลังจากนั้น จะส่งผลกระทบให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำเข้าสู่แผนการก่อสร้างต่อไป
นายประทีป โจ้งทอง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง กล่าวว่า ท่าเทียบเรือปากเมงเดิม ในการขึ้นลงช่วงเช้าของนักท่องเที่ยวจะเกิดความแออัดมาก เนื่องจากหน้าท่ามีความแคบ และมีทางเดินเพียงแค่ 2 เมตรครึ่ง จึงสามารถนำเรือมาเทียบได้ทีละลำ ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดก็ต้องใช้เวลาถึง 11.00 น. หากวันไหนตรงกับช่วงน้ำลง ทำให้เกิดปัญหาหน้าท่าต่ำ การเข้าออกของเรือก็จะยิ่งลำบากมาก โดยท่าเทียบเรือปากเมง ได้ก่อสร้างเมื่อปี 2536 ซึ่งต่างกับวันนี้ในปี 2558 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีผู้ใช้บริการแค่วันละ 100-200 คน มาเป็นวันละกว่า 2,000 คน หรือถึง 3,000 คน ในช่วงเทศกาล
สำหรับท่าเทียบเรือปากเมง ถือว่าเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน เพราะสามารถเดินทางออกสู่ทะเลได้ใกล้กว่าที่อื่น และถนนหนทางมายังท่าเทียบเรือก็สะดวก นอกจากนั้น จุดที่ตั้งของท่าเทียบเรือก็ยังมีเกาะบังอยู่ จึงไม่มีปัญหาการขึ้นลงแม้แต่ในหน้ามรสุม ทำให้ผู้ประกอบการรีสอร์ต เรือทัวร์ หรือเรือหางยาวต่างๆ ต้องมาใช้บริการที่ท่าเทียบเรือปากเมงทั้งนั้น จึงถือเป็นท่าเทียบเรือที่จะนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวอันเป็นหน้าตาของจังหวัดตรัง แต่ที่ผ่านมา กลับทำเหมือนเป็นแค่ท่าเทียบเรือประมงเล็กๆ ซึ่งถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงกันอย่างจริงจังแล้ว