xs
xsm
sm
md
lg

ประมงพื้นบ้านนาจอมเทียน ส่งกลับแบบสร้างท่าเรือหน้าคอนโดหรู หวั่นกระทบความเป็นอยู่ของชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประชาพิจารณ์กลุ่มประมงพื้นบ้านนาจอมเทียน ก่อสร้างท่าเรือกลางลำน้ำหน้าคอนโดหรู ชาวบ้านชี้หวั่นกระทบการทำกิน และวิถีการดำรงชีวิต ด้านภาคเอกชนรับลูกเตรียมปรับแผนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน

วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ร้านอาหารลุงไสว 2 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ผู้ประกอบการเวล มารีนา คอนโดมิเนียม ในนามบริษัท พาวิลเลียน บีช จำกัด ทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชนบริเวณปากคลองนาจอมเทียน อ.สัตหีบ เพื่อนำเสนอรูปแบบการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ พร้อมก่อสร้างกำแพงเขื่อนกันดิน และท่าเทียบเรือขนาด 20 ตันกรอส บริเวณหน้าสิทธิที่ดิน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย เนื่องจากแผนการก่อสร้างดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อวิถีการทำกิน และการดำรงชีวิตของชาวบ้านในชุมชนดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเมืองพัทยา เทศบาลตำบลนาจอมเทียน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 13 ชลบุรี ผู้นำชุมชน และชาวบ้านกว่า 30 รายเข้าร่วม

นายยืนยง วุฒิชาติ วิศวกรบริษัท พาวิลเลียน บีช จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้วางแผนก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรู ขนาดมาตรฐานขึ้นบนเนื้อที่ 4 ไร่ 86 ตารางวา ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 28355 เลขที่ดิน 665 บริเวณปากคลองนาจอมเทียน ซึ่งปัจจุบัน กำลังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ตามแผนงานนั้นทางบริษัทกำหนดรูปแบบที่จะก่อสร้างเขื่อนกันดินขึ้นตลอดแนวในระยะ 216 เมตร พร้อมการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาด 20 ตันกรอส เพื่อรองรับเจ้าของห้องชุดและนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการในคอนโดมิเนียมดังกล่าว

โดยทั้ง 2 แผนการนี้ทางบริษัทได้เสนอเรื่องผ่านทางเทศบาลนาจอมเทียน พร้อมส่งเรื่องไปยังกรมเจ้าท่าเพื่อขออนุญาต ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยรูปแบบของการก่อสร้างท่าเทียบเรือ แม้จะเป็นท่าเทียบเรือขนาดเล็ก แต่จะมีแนวที่จะทำท่าจอดในลักษณะเป็นแขนยื่นออกไปในลำคลองในระยะ 10 เมตรจากตลิ่ง ซึ่งอยู่ในระยะ 30% จากความกว้างของคลองตามกฎหมายแห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย

แต่ด้วยคลองดังกล่าวมีกลุ่มประมงพื้นบ้านจำนวนมาก ต้องนำเรือประมงขนาดเล็กเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจส่งผลกระทบอยู่บ้าง จึงมาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อทางบริษัทจะได้นำไปปรับปรุงและแก้ไข เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ต่อไป

นายทวีทรัพย์ ผุดผาด แกนนำชุมชน กล่าวว่า คลองแห่งนี้มีชาวบ้านพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยมีเรือประมงขนาดเล็ก และขนาดกลางในคลองสัญจร 50-60 ลำ สำหรับการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งนี้ คงไม่มีผลกระทบอะไร แต่การก่อสร้างท่าเทียบเรือ พบว่า มีการทำท่าเรือแบบลอยน้ำ ซึ่งมีแขนขวางออกมากลางลำคลองในระยะ 10 เมตรจากริมตลิ่ง กรณีนี้ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว จะทำให้คลองเหลือพื้นที่ความกว้างอีกเพียงไม่ถึง 10 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ลำคลองของเรือประมงเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ เพราะจากภาพของที่ดินตามระวางกับสภาพความเป็นจริงนั้นขัดแย้งกันอย่างมาก ด้วยมีการบุกรุกที่ดินมาอย่างต่อเนื่อง จนสภาพลำคลองคับแคบลง จึงอยากให้ทำการแก้ไขปรับปรุง โดยใช้พื้นที่ดินในส่วนที่ครอบครองเป็นหลักเพื่อไม่ให้เกิดการล่วงล้ำลำน้ำ

ขณะที่ นายกฤษดา เจริญสุข หัวหน้าฝ่ายโยธา เทศบาลตำบลนาจอมเทียน กล่าวว่า ตามแผนของภาคเอกชนนั้นถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากมีการปรับแก้เพื่อให้สอดคล้องต่อวิถีของชุมชน ก็คงลดผลกระทบ และอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในส่วนของกลุ่มประมงพื้นบ้านถือว่าประสบปัญหาพอสมควรอยู่แล้ว โดยเฉพาะสะพานเดินเรือและท่าเทียบ เนื่องจากปัจจุบันยังจำเป็นต้องสัญจรผ่านในที่ดินส่วนบุคคลเพื่อเดินทางมาที่จอดเรือประมง

โดย 2 ปีที่ผ่านมา ทางเทศบาลมีแผนการก่อสร้างสะพานสำหรับชาวบ้านเลาะตามแนวตะเข็บที่ดินของทางคอนโดไปสู่ปากคลอง ซึ่งได้ส่งเรื่องไปยังกรมเจ้าท่าเพื่อขออนุมัติไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา กระทั่งทางคอนโดได้รับการอนุมัติการก่อสร้างท่าเรือขึ้น จึงทำให้โครงการนี้ชะงักลง เนื่องจากมีแนวทางการจัดทำที่ทับซ้อนกัน

ด้าน นายเรวัตร โพธิ์เรียง ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค เมืองพัทยา กล่าวว่า ภาครัฐดำเนินการตามเอกสาร และข้อเท็จจริง ซึ่งทางบริษัทเองก็นำเสนออย่างถูกต้องจนมีความเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดผลกระทบต่อชุมชน จึงได้กำหนดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ ซึ่งก็คงต้องหาทางออกร่วมกัน ส่วนกรณีของการร้องขอการก่อสร้างสะพานให้แก่ชาวบ้าน ที่ทางเทศบาลระบุว่าผ่านมากว่า 2 ปี แต่ไม่ได้รับการอนุมัตินั้นคงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเพิ่งถูกนำเสนอ หลังจากที่กรมเห็นชอบในการก่อสร้างท่าเทียบเรือให้แก่ทางบริษัทไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างสะพานเลาะริมตลิ่งผ่านหน้ากรรมสิทธิ์ที่ดินของทางบริษัท ต้องขอรับความเห็นชอบที่เจ้าของที่ดินตามข้อบัญญัติของกฎหมายเช่นกัน

ทั้งนี้ หลังการหารือนานกว่า 2 ชม. ชาวบ้านจึงสรุปข้อเรียกร้องให้ทางบริษัทรับไปพิจารณาใหม่ โดยมีประเด็นสำคัญ คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจัดทำท่าเทียบเรือขนาดใหญ่หน้ากรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อลดผลกระทบต่อประมงพื้นบ้าน รับผิดชอบต่อกรณีการขุดลอกลำคลอง และขนานร่องน้ำ เนื่องจากอาจเกิดปัญหาดินสไลด์ ซึ่งอาจทำให้ที่พักอาศัยได้รับผลกระทบ ซึ่งทางบริษัทเองก็รับปากจะเร่งไปพิจารณาแก้ไข พร้อมจัดประชุมร่วมกับตัวแทนของแต่ละฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น