ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยมาตรการแก้ลอตเตอรี่ ราคา 80 บาทของรัฐบาลได้ผลจริง ในระยะสั้น แต่ระยะยาวเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ มาตรา 44 สิ้นมนต์ขลัง เชื่อปัญหาจะกลายเป็นวัวพันหลักกลับมาที่จุดเดิม ดังนั้นต้องแก้แบบยั่งยืน จัดโครงสร้างทั้งระบบใหม่ โดยปรับสัดส่วนโควตาขายผ่าน 3 ช่องทาง คือ "ผู้ค้ารายใหญ่-รายย่อย-ตู้ออนไลน์" ปิดทางรายใหญ่ไม่ให้ผูกขาด รายย่อยมีรายได้ที่เป็นธรรม คนซื้อไม่ซื้อแพงเกินจริง ผลประโยชน์ตกสู่รัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ชี้ตู้ออนไลน์เกิด คนตกงานนับแสนคน!
สำรวจแผงลอตเตอรี่ หลังจากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้มาตรา 44 มาควบคุมราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ให้ขายเกินราคา 80 บาท นับตั้งแต่งวดวันที่ 16 เดือนมิถุนายน 2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนั้น พบว่าแผงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนใหญ่ยังไม่มีการฝ่าฝืนขายเกินราคาที่กำหนด ขณะที่แผงขายลอตเตอรี่ในต่างจังหวัดนั้นคงมีกระแสข่าวเจ้าหน้าที่ออกตรวจและจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ปัญหาสลากแพงดังกล่าวนั้น อยู่ในแผนการทำงานระยะที่ 1 เน้นการแก้ปัญหาแบบเผชิญหน้านี้จะสิ้นสุดลงภายในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งโควตาสลากทั้งหมดจะหมดสัญญาลงเช่นกัน
สร้างกลไกห้ามผูกขาดตลาด
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง สถานการณ์หลังใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาสลากเกินราคา ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
แต่มีความชัดเจนในแง่ของหลักความยุติธรรม ที่เปลี่ยนมาสู่การค้าที่เป็นธรรม “ประชาชนไม่ต้องซื้อสลากที่มีราคาแพง และรายย่อยที่ค้าสลากก็ไม่ถูกเอาเปรียบมาก” เพราะอย่างน้อยที่สุดราคาก็ลดลง ด้วยกลไกที่สร้างขึ้น จากนโยบายที่ให้ผู้ว่าราชการจำกัดลงพื้นที่ช่วยดูแลกำกับราคาให้อยู่ในมาตรฐาน คู่ละ 80 บาท เปลี่ยนมาสู่การค้าที่เป็นธรรมถือเป็นแนวโน้มที่ดี
ส่วนปัญหาที่ขายสลากเกินราคายังมีให้เห็นอยู่บ้าง เพราะหากดูจากราคากลางที่เป็นต้นทุนขายให้รายย่อยก็ไม่ใช่ 72 บาท หรือ 74 บาท ซึ่งต้นทุนที่รายย่อยจะรับได้คือ 70 บาท 40 สตางค์ ปรากฏว่าราคาไปที่ประมาณ 80 บาทต้นๆ แต่ก็ถือว่าลงมาเยอะมากจาก 100 บาท จึงทำให้มีบางส่วนขาย 80 บาท และบางส่วนราคาเกินที่ 90 บาท
“ตลาดยังต้องเปลี่ยนสัดส่วนโควตาสลาก ที่ส่วนใหญ่มีการทำสัญญาในระยะสั้น 1 ปี ที่กำลังจะครบวาระหมดอายุไปเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อผ่านจุดนี้ไปแล้วก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น เนื่องจากสำนักงานสลากฯ ออกมาชี้แจงว่า ยังไม่สามารถยกเลิกได้ต้องให้รายเก่า จึงเป็นที่มาทำให้โควตาสลากยังไม่ออกมา คือ ยังเป็นการขายที่ยังอยู่ในระบบผ่านกลไกแบบเดิมๆ ซึ่งอาจมีบางส่วนที่เลิกได้บ้างแล้วนำบางส่วนมาจัดสรรให้รายย่อย”
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากๆ คือ การควบคุมระบบจัดจำหน่ายให้สลากกระจายไปสู่มือผู้ค้ารายใหญ่ได้อย่างแท้จริง เพื่อสร้างระบบการขายสลากให้เกิดการแข่งขัน และทำให้ไม่มีใครสามารถจะผูกขาดตลาดได้เช่นที่ผ่านมา
แผนระยะ 2 มีรายใหญ่มีสิทธิ์เจ๊งได้
รศ.ดร.นวลน้อย ย้ำว่า นโยบายการควบคุมราคาสลากจะบรรลุสู่เป้าหมายได้หรือไม่ ก็อยู่ที่การดำเนินการในระยะที่ 2 ว่าจะสามารถสร้างกลไกให้มีความแน่นอนควบคุมในระยะยาวได้หรือไม่
โดยเฉพาะจากมาตรการที่รัฐกำหนดสลากสำหรับผู้ค้ารายย่อย ที่ว่า ใครอยากค้าสลากไปจองได้ซึ่งจะเริ่มเปิดให้จองในเดือนกันยายนนี้ โดยรัฐบาลประกาศว่า ใครอยากขายสลากเท่าไหร่ก็จะมีการพิมพ์ออกมาให้พอกับความต้องการ และหากจะประเมินสถานการณ์หลังจากที่ขายสลากตามความต้องการของคนขาย คาดว่าราคาจะไม่ลง แต่จะมีคนเจ๊งเพราะขายไม่หมด
วิธีการนี้คือ การแก้ไขโดยรายย่อยอยากได้เท่าไหร่ก็จัดให้ รายใหญ่ก็ขายเท่าเดิม แต่ปัญหาคือ เมื่อรายย่อยได้สลากแล้วจะไม่ซื้อจากรายใหญ่ เพราะฉะนั้นปัญหาจะไปตกที่รายใหญ่ขายไม่ได้
รัฐบาลได้แสดงความกังวลว่า แนวทางแก้ไขในลักษณะนี้อาจจะเข้าข่ายการมอมเมาหรือไม่ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ต้องใช้แนวทางแบบดีมานด์และซัปพลาย ใครที่ไม่สามารถหารายย่อยได้สุดท้ายต้องลดจำนวนสลากที่นำมาขายให้รายย่อย และสุดท้ายแล้วสลากน่าจะไปถึงมือผู้ค้ารายย่อยแล้วจะเกิดการตัดตอนไม่ให้ใครคุมสลากได้
รศ.ดร.นวลน้อย บอกว่า ปัญหาสลากเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เห็นได้ว่าหลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นานก็พูดถึงปัญหาสลากเกินราคา ในรายการนายกฯ พบประชาชน ซึ่งในอดีตแทบไม่มีนายกฯ คนไหนเลยที่พูดเรื่องนี้ จากนั้นมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบอร์ดสำนักงานสลากฯ ในขณะนั้น โดยแนะวิธีแก้ปัญหาสลากทางเดียวที่จะทำได้ คือจัดระบบจัดจำหน่ายไปที่รายย่อย โดยทำให้รายย่อยได้โควตา
ซึ่งข้อเสนอแนะนี้ได้รับการเห็นด้วย และหลังจากนั้นจึงมีการประกาศให้ประชาชนที่มีความประสงค์จะค้าสลากมาขึ้นทะเบียน ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีมีคนให้ความสนใจมาก แต่ปัญหาตอนนั้นคือ รัฐไม่มีสลากให้กับคนที่สนใจ
ปรากฏว่าหลังเหตุการณ์นี้ ปัญหาสลากยังคงมี และเมื่อมีการวางกลไกแก้ปัญหาแล้วก็ตาม แต่ปัญหาก็ยังแก้ไม่ได้ ยังวนอยู่ในแบบเดิมๆ จึงนำมาสู่เหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลต้องยกขึ้นมาเป็นปัญหาระดับชาติ โดยเปลี่ยนบอร์ดของสำนักงานสลากฯ ใช้มาตรา 44
ในวันนี้แม้รัฐบาลประยุทธ์ จะสามารถแก้ปัญหาราคาได้คลี่คลายไปบ้าง ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/58 เพื่อกำหนดกลไกในการแก้ปัญหาสลากได้ทันที โดยในคำสั่งที่ 11 นี้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ในส่วนของสลากเกินราคาของเดิม คือ มาตรา 39 ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้และยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
ในส่วนของใหม่ คือ โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท จะเห็นได้ว่าค่าปรับเพิ่มขึ้น และเพิ่มโทษการจำคุกเข้าไปด้วย
“เรื่องการขายสลากเกินราคา เป็นปัญหาที่ต้องแก้ทั้งโครงสร้างให้ได้ เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นปัญหาได้อีกในอนาคต เพราะในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เรื่องของสลากจะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตามมา คือ รายได้ของผู้ค้ารายย่อยที่มาจากการขายสลากจะไม่เพียงพอต่อไป เพราะค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนรายได้จากการขายสลากเท่าเดิม ส่วนแนวทางแก้ไข ที่คิดไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนสลากให้มากขึ้น เพื่อจะแก้ให้ทันกับค่าครองชีพที่สูงมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก”
จุฬาฯแนะแก้สลากแบบยั่งยืน
สำหรับทางแก้ปัญหาสลากที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า รัฐบาลจะต้องคิดแก้แบบระยะยาว โดยเพิ่มประสิทธิภาพในกลไกอื่นๆ ทั้งการตั้งบอร์ดมอนิเตอร์ติดตามปัญหา โดยเฉพาะให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการให้ระบบจัดจำหน่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจัดสรรโควตาให้ผู้ค้ารายย่อย จดทะเบียนตามความต้องการรายพื้นที่ รายจังหวัด โดยกระจายสัดส่วนอย่างเป็นธรรม ควบคู่การขายผ่านตู้ออนไลน์ ซึ่งจะเป็นการสกัดไม่ให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง ในกระบวนการจัดการ เช่นในปัจจุบัน ที่ตลาดซื้อ-ขายสลากสัดส่วนใหญ่เป็นตลาดในระดับผู้ค้าส่งซึ่งเป็นคนกลางมีอำนาจที่จะกำหนดราคาตลาดได้ ขณะที่นิติบุคคลได้เป็น 1,000 เล่ม
ส่วนโควตาของผู้ค้ารายย่อยที่เป็นคนขายตัวจริงนั้นมีเพียง 1-2 เล่มเท่านั้น ในส่วนของตู้ออนไลน์ ที่สุดแล้วจะต้องมีการปรับสัดส่วนการขายไปที่ช่องทางนี้อย่างแน่นอน เพราะวิธีการนี้จะสกัดการขายในวงจรเดิมๆ ที่เป็นปัญหา โดยปรับสัดส่วนการขายสลากบางส่วนมาอยู่อีกตลาดที่คนเดินมาซื้อเองที่ตู้สลากออนไลน์
อย่างไรก็ตามมีประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้น คือ การบังคับกฎหมายที่มีอยู่ในวันนี้ รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาสลากด้วยมาตรา 44 ได้ โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐออกตรวจแผงสลากให้ขายในราคาที่ควบคุม แนวทางนี้เป็นกลไกพิเศษที่ต้องใช้พลังเยอะมาก ซึ่งวิธีการนี้คงใช้ได้ไม่นานและไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ สลากจะกลับมาขายในราคาแพงอีก ดังนั้นต้องแก้ที่การบริหารจัดการสลากให้ไปถึงมือผู้ค้ารายย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในส่วนกฎหมายต้องมีการปรับตามด้วย เพราะเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ จะมีปัญหาในเชิงเทคนิคโดยเฉพาะมาตรการที่รัฐช่วยผู้ค้ารายย่อย โดยรัฐออกส่วนหนึ่งให้เพราะรายย่อยบอกว่าขายสลากไม่พอเลี้ยงตัวเอง โดยรัฐลดราคาให้ผู้ค้าสลากรายย่อยอีก จากที่รัฐบาลเคยได้ภาษี 28% ในปัจจุบันเหลือเพียง 20% เท่านั้น เพราะนำส่วนต่าง 8% มาเพิ่มให้ผู้ค้ารายย่อยอยู่ได้ แทนที่จะไปขายเกินราคากับประชาชน
แต่ปัญหานี้จะเป็นวัวพันหลัก เพราะราคาสลากจะคงที่ตลอดหากขายสลากมีรายได้ 9 - 10 บาทต่อการขายสลาก 1 ใบ ขณะที่ค่าครองชีพหรือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้นสุดท้ายก็จะไม่พอกิน จะเป็นปัญหากลับมาอีก เพราะฉะนั้นในอนาคตก็ต้องว่ากันอย่างตรงไปตรงมา คือ การขายสลากผ่านตู้ออนไลน์ แต่หากเริ่มดำเนินการในวันนี้จะทำได้ค่อนข้างลำบากเพราะสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ไม่ดี และมีจำนวนคนที่ค้าสลากจำนวนมาก และถ้าเปลี่ยนวิธีแล้วจะมี"คนตกงาน"เท่าไหร่ ประเมินจากคนที่ค้าสลากมีประมาณระดับแสนคน
ขณะเดียวกันหากติดตามโรดแมปในการคุมราคาสลากของ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลที่กล่าวถึงการขายออนไลน์ กำหนดไว้ว่าจะสามารถเริ่มได้ในระยะที่ 3 จะมีตู้สลากออนไลน์ในปั๊มน้ำมัน, ร้านสะดวกซื้อ หรือจะซื้อผ่านตู้เอทีเอ็มหรือไม่นั้น เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องว่ากัน ในช่วงเวลาหลังจากที่มีการเลือกตั้งไปแล้ว
นี่คือปัญหาใหญ่ว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่เปลี่ยนแบบทันที เพราะถ้าใช้ตู้สลากออนไลน์จะมีจำนวนคนที่ค้าสลากลดลงมาก และคนกลุ่มนี้จะไปอยู่ที่ไหน ประกอบอาชีพอะไร เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องศึกษาอย่างรอบคอบ
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า มีคำถามกันว่า การค้าโดยรัฐเป็นการผูกขาด ที่ผ่านมานั้น รัฐจะมีมาตรการคุมราคาออกมาเสมอ กรณีการซื้อไฟฟ้าของรัฐจากการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น จึงต้องมีการกำหนดราคาและมีคณะกรรมการกำกับดูแลว่าควรขายไฟฟ้าที่ราคาเท่าไหร่ เพราะหากว่าให้องค์กรกำหนดเอง เช่นเดียวกับการขายสลากจึงต้องมีการกำหนดกติกาที่เป็นธรรม โดยมีการกำหนดราคาและสัดส่วนทุกอย่าง ถามว่าต่างประเทศก็แบบนี้ เป็นไปตามมาตรฐานของต่างประเทศทุกอย่าง
เพียงแต่มีความแตกต่างกันที่กลไกการค้าและการจำหน่ายไปถึงมือผู้บริโภคมีคนคนหนึ่งกุมเอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นเอกชนไม่ใช่รัฐ รัฐบอกขายออกไปก็ตามราคาที่กำหนดเลย เพราะฉะนั้นส่วนที่เหลือจึงเป็นเรื่องของเอกชนที่ดำเนินการกันเอง จึงเป็นฝีมือของเอกชนที่ทำให้ราคาสลากแพง
ก่อนหน้านี้มีความพยายามจะแก้ปัญหาสลากราคาแพงโดยการเพิ่มจำนวนสลาก ซึ่งมีการวิจัยในปี 2544 - 2545 พบว่ามีสลากขายอยู่ในตลาดประมาณ 36 ล้านฉบับ ราคาขายอยู่ที่ 90 บาทถึง 100 บาท ปัจจุบันก่อนมาตรา 44 มีสลากขายในตลาดประมาณ 74 ล้านฉบับ ในระยะ 10 ปีเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว
สำหรับเหตุผลในการเพิ่มสลากเพราะรัฐบาลเห็นว่าจำนวนสลากไม่เพียงพอกับความต้องการ เป็นที่มาให้มีการเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่ปรากฏว่า เมื่อเพิ่มปริมาณราคาก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยด้วยเช่นกัน กลายเป็นราคา 110 - 120 บาท เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มจำนวนสลาก แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้คนบางกลุ่มควบคุมกลไกการจำหน่ายได้และหาประโยชน์จากส่วนเกินที่เกินกว่าปกติ จึงทำให้กลไกการจำหน่ายมีปัญหา
ดังนั้นทางแก้ทั้งระบบ และปรับสัดส่วนการขายผ่าน 3 ช่องทาง คือหนทางเดียวที่รัฐจะแก้ปัญหานี้ได้แบบยั่งยืน ในทุกเวลา ทุกรัฐบาล แม้ในเวลาที่ปราศจากอำนาจมาตรา 44 แล้วก็ตาม!