xs
xsm
sm
md
lg

เตะฝุ่น! ฝันร้ายแรงงานไทย ท้าทายรอพิสูจน์กึ๋นดรีมทีม ศก.“สมคิด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แรงงานบางส่วนขึ้นทะเบียนกับจัดหางาน หลังลูกเลิกจ้าง ซึ่งพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจ
ต้องยอมรับว่า ณ จุดนี้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะดิ่งเหวอย่างชัดเจน สถานประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทยอยปิดตัว และลอยแพลูกจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่อง และนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น หนีไม่พ้นกลุ่ม “ผู้มีรายได้น้อย” คนฐานรากของสังคมในทุกหัวระแหง ไม่เว้นชุมชนชนบท และหัวเมืองต่างจังหวัด ต่างได้รับผลกระทบเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ของภูมิภาคต่างๆ อันเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการลงทุน และแหล่งจ้างงานสร้างรายได้หลักของกลุ่มคนฐานรากดังกล่าว เริ่มเผชิญปรากฏการณ์ “เดินเตะฝุ่น” ว่างงานกันหนาตา กลายเป็นอีกหนึ่งฝันร้ายที่เป็นจริงของผู้คนอยู่ในขณะนี้

เฉกเช่น จ.นครราชสีมา เมืองใหญ่ประตูสู่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการลงทุน และแหล่งตั้งโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 2,600 แห่ง รวมเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.88 แสนล้านบาท และจ้างแรงงานกว่า 1.46 แสนคน มากที่สุดของภูมิภาคนี้ ได้กลายเป็นเวทีนำเสนอข่าวสะท้อนรูปธรรมปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก และอุตสาหกรรมส่งออกไทยซบเซา ต่อกรณีโรงงานพาเหรดปิดตัว หรือลดกำลังผลิต ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานล็อตใหญ่มาพักหนึ่งแล้ว

เริ่มจากเดือน ก.ค. มีการประโคมข่าวโรงงานบริษัท ซัมซุงอิเล็กโทร-แมคคานิคส์ จำกัด ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ประกอบกิจการผลิตฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ มีพนักงาน 2,500 คน ประสบปัญหาคำสั่งซื้อชะลอตัวมาตั้งแต่ เม.ย.2558 เนื่องจากลูกค้าเปลี่ยนแปลงรูปแบบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ จำต้องปรับลดพนักงานโดยเริ่มจากให้สมัครใจลาออกล็อตแรก จำนวน 400 คน ต่อมาเดือน ก.ค.ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานอีกรวมกว่า 1,400 คน พร้อมเตรียมปิดกิจการในช่วงปลายปีนี้หากสถานการณ์ทุกอย่างไม่ดีขึ้น

ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา โรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์สำหรับพรม และเฟอร์นิเจอร์ ของบริษัทสตาร์ ซินเธติค ยานส์ จำกัด ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ประสบต่อปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนอย่างหนัก หลังถูกบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลกสัญชาติสวีเดน ยกเลิกสั่งออร์เดอร์ทั้งหมด แล้วหันไปสั่งซื้อสินค้าจากอินเดีย และจีนที่มีราคาถูกกว่า เพราะต้นทุนต่ำกว่าแทน ส่งผลให้โรงงงานต้องหยุดเดินเครื่องจักรการผลิตเกือบทั้งหมด และพนักงานเริ่มทยอยลาออกแล้ว 120 คน จากทั้งสิ้น 250 คน
ที่พักต่างๆ ที่อยู่รายรอบโรงงาน ได้รับผลกระทบด้วย บางแห่งห้องว่างมาระยะหนึ่ง บางแห่งถึงต้องกับประกาศขาย
ส่วนที่มีข่าวแพร่สะพัดถาโถมซ้ำเติมว่า โรงงานบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี เช่นกัน กำลังเตรียมย้ายฐานผลิตซึ่งจะทำให้มีแรงงานถูกเลิกจ้างอีกกว่า 3,000 คนนั้น ทางผู้บริหารศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ออกมาระบุชัดเจนแล้วว่า เป็นการเข้าใจผิด ยืนยันไม่ปิดโรงงานแน่นอน พร้อมประกาศรับพนักงานเพิ่มต่อเนื่อง และเดินเครื่องผลิตเต็มอัตรา โดยไม่มีแผนย้ายฐานการผลิต เพียงแต่ขยายธุรกิจไปต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้พอทำให้เบาใจลงไปได้บ้าง

ทางด้านองค์กรภาคเอกชน โดย นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ออกมายอมรับตรงๆว่า สภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ดี ซ้ำยังเกิดเหตุการณ์ร้ายระเบิดกลางเมืองหลวง และมีข่าวสารไม่ดีออกมาต่อเนื่อง ซึ่งอัตราเร่งที่มองเห็น และมีแนวโน้มชัดเจน คือ ตลาดแรงงานเริ่มมีปัญหา เพราะโรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวมากขึ้น

จากข้อมูลสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรม ระบุว่า ล่าสุดในเดือน ก.ค.2558 จ.นครราชสีมา มีโรงงานอุตสาหกรรมในทั้งหมด จำนวน 2,645 โรงงาน เงินลงทุนรวม 188,117.95 ล้านบาท จ้างแรงงาน 146,516 คน ขณะที่เดือน ก.ค.2557 มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 2,659 โรงงาน เงินลงทุนรวม 182,595.87 ล้านบาท จ้างแรงงาน 146,904 คน

เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันตามตัวเลขข้างต้นพบว่า ในเดือน ก.ค.ปีนี้ มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมลดลงจากปีที่แล้ว 14 โรงงาน คิดเป็น 0.53% แต่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 5,522.08 ล้านบาท คิดเป็น 3.02% จำนวนคนงานลดลง 388 คน คิดเป็น 0.26%

เฉพาะในเดือน ก.ค.2558 มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ 10 โรงงาน เงินลงทุน 712.57 ล้านบาท คนงาน 330 คน ขณะที่เดือน ก.ค.2557 มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ 5 โรงงาน เงินลงทุน 213.71 บาท คนงาน 149 คน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยทั้งจำนวนโรงงานตั้งใหม่ และการจ้างงาน

“ในปีนี้แม้ว่าโคราชจะมีการปิดตัวของโรงงานไปแล้วถึง 25 แห่ง ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นโรงงานที่แข่งขันในตลาดไม่ได้จริงๆ แต่ก็มีโรงงานใหม่ๆ เข้ามาทดแทน และข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เม็ดเงินลงทุนกลับเพิ่มสูงขึ้น ฉะนั้นเรามองว่า จ.นครราชสีมา ยังเป็นฐานการลงทุนที่จะมีนักลงทุนเข้ามาอีกจำนวนมาก” นายหัสดิน ระบุ

แต่ทั้งนี้ไม่อาจวางใจได้ ทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้ทำหนังสือถึงสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมา (กรอ.นม.) เป็นการด่วน ในต้นเดือน ก.ย.นี้ เพื่อรับมือต่อปัญหากรณีโรงงานอุตสาหกรรมปิดตัว เลิกจ้างแรงงาน และปัญหาสินค้าเกษตร ทั้งด้านปริมาณผลผลิตลดน้อยจากวิกฤตภัยแล้ง และราคาตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของกำลังซื้อภายในประเทศที่ปัจจุบันนับวันยิ่งหดหาย

ขณะที่ข้อมูลสำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์ด้านแรงงาน ว่า ผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรใน จ.นครราชสีมา ณ ไตรมาส 2 ปี 2558 พบว่า มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 2,023,741 คน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 1,394,826 คน และเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 628,915 คน ประชากรผู้มีงานทำ จำนวน 1,368,352 คน และมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น จำนวน 20,415 คน

สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครราชสีมา รายงานข้อมูลไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ว่า จ.นครราชสีมา มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมทั้งสิ้น จำนวน 8,235 แห่ง ลูกจ้างผู้ประกันตนทั้งสิ้น 263,067 คน มีจำนวนสถานประกอบการที่เลิกกิจการ และลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งสิ้น146 แห่ง

ปรากฏการณ์โรงงานปิดตัวลอยแพพนักงานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่โคราช แต่ลามไปยังหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสานที่ จ.อุดรธานี รวมถึงภาคเหนือ กรณีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน จำนวน 4 แห่ง ต้องนำมาตรการลดจำนวนพนักงาน ลดวันทำงาน รวมถึงใช้มาตรา 75 จ่ายเงินเดือนพนักงานเพียง 75% และให้หยุดทำงานเป็นระยะเวลา 2- 3 เดือน หลายแห่งให้พนักงานสมัครใจลาออก และเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประสบปัญหาไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

อีกทั้งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อผู้ประกอบกิจการหอพักรายรอบนิคมอุตสาหกรรม ต้องประกาศกิจการขายไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ส่วนกิจการร้านค้าร้านอาหารเอง ลูกค้าหดหาย และถูกเบี้ยวหนี้เป็นจำนวนมาก

ทั้งหมดทั้งปวงนี้คือเรื่องปากท้องของคนฐานรากสังคมไทย อันเป็นปัญหาใหญ่ปราการด่านแรกที่ท้าท้าย และรอพิสูจน์ฝีมือเหล่าดรีมทีมเศรษฐกิจของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ผู้กำกับดูแลกระทรวงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ 3” เบ็ดเสร็จมากถึง 7 กระทรวง ท่ามกลางความกดดัน และคาดหวังสูงยิ่งจากทุกภาคส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น