อุบลราชธานี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี พบคนอีสานใต้กินเห็ดพิษเสียชีวิตแล้ว 8 ราย ที่อุบลฯ 4 ราย และยโสธร 4 ราย ป่วยกว่า 200 คน แนะไม่เก็บเห็ดในแหล่งมีสารเคมีตกค้าง ไม่กินเห็ดที่ไม่รู้จัก มีอาการป่วยรีบอาเจียนเอาเห็ดออกจากร่างกาย ป้องกันอันตรายจนเสียชีวิต
วันนี้ (28 ส.ค.) นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า ฤดูฝนทุกปีจะมีผู้ป่วยและเสียชีวิต จากการเก็บเห็ดป่าที่เป็นพิษไปปรุงเป็นอาหารรับประทาน โดยสถิติตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2558 มีผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดในเขต สคร.7 (รวม 7 จังหวัดอีสานใต้) 235 ราย เสียชีวิตแล้ว 8 คน
โดยผู้ป่วยมากที่สุด คือ จ.อุบลราชธานี 154 คน เสียชีวิต 4 คน และจังหวัดยโสธรเสียชีวิตอีก 4 คน ส่วนจังหวัดศรีสะเกษพบผู้ป่วย 39 คน แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนอีก 4 จังหวัดพบผู้ป่วยไม่มาก โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุจากอาการไตทำงานล้มเหลว หรืออาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยเป็นอยู่แล้ว
สำหรับเห็ดที่เป็นพิษ คือ เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ห่าน เห็ดไข่เหลือง เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก จะมีพิษมากในระยะดอกตูม และไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี หรือสวนยางพารา เพราะเห็ดจะดูดซับสารพิษต่างๆไว้จำนวนมาก และห้ามกินเห็ดดิบๆ โดยเด็ดขาด
ส่วนหลังรับประทานเห็ดเป็นพิษเข้าไปจะมีอาการตามชนิดของเห็ด แต่ส่วนมากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริวเกิดขึ้นหลังกินไปได้ไม่นาน วิธีช่วยบรรเทาอาการพิษ ต้องให้ผู้ป่วยอาเจียนเห็ดออกมาให้มากที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมนำเห็ดที่รับประทานไปให้แพทย์ เพื่อให้การรักษาได้ถูกต้องกับชนิดของเห็ด หากเป็นไปได้ไม่ควรเก็บหรือซื้อเห็ดที่ไม่รู้จักหรือแหล่งที่มาจะช่วยลดอันตรายจากการรับประทานเห็ดจนเสียชีวิตได้ดีที่สุด