xs
xsm
sm
md
lg

เมืองน้ำดำปิดค่าย “รากเรา” เดินหน้าปลูกฝังเยาวชนไทยสำนึกรักศิลปะพื้นบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ค่ายรากเรา 3 ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งรวมการแสดงพื้นบ้าน นาฏศิลป์ไทยผนึกกำลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานและเป็นพลังในการต่อยอดเผยแพร่การแสดงพื้นบ้านจากรุ่นสู่รุ่น

วันนี้ (24 ส.ค.) ที่หอศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลปะกาฬสินธุ์ นายปัทมนิธิ เสนาณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นประธานปิดค่ายกิจกรรมรากเราปีที่ 3 โดยมีนางนิภา โสภาสัมฤทธิ์ รองอธิการบิดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พร้อมผู้บริหารวิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่ง คณะครูผู้ฝึกสอนและนักเรียนและนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน

ทั้งนี้ กิจกรรมโครงการรากเรา เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะการแสดงและวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติไทย โดยครูและนักเรียน นักศึกษาจากรั้ววิทยาลัยนาฏศิลป์ สังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป กระทรวงวัฒนธรรม 12 แห่ง เข้าร่วมโครงการ เป็นการศึกษาศิลปะการแสดง วัฒนธรรมและการแสดงพื้นบ้านแบบเข้าถึงแก่นแท้ของแต่ละภูมิภาค ทั้งด้านข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ตำนานเล่าขานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นการร้อง การบรรเลงดนตรี และท่ารำทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีการจำลองตลาดสดการแสดงพื้นบ้านที่มีการประชันการแสดงพื้นบ้านของผู้เข้าร่วมโครงการก่อนจะถอดบทเรียนผ่านการแสดงที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมชื่นชมความสามารถ ความสวยงามของการแสดงนาฏศิลป์ไทยและการแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค

นายปัทมนิธิ เสนาณรงค์ กล่าวว่า ทางมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนประมหากษัตริย์ได้สนับสนุนโครงการรากเรามาโดยตลอดสำหรับปี 2558 ได้ดำเนินโครงการมาถึงปีที่ 3 จากโครงการรากเราที่เกิดเป็นภาพยนตร์สารคดี จนถึงปัจจุบันคือการต่อยอดไปที่การอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมจากการแสดงนาฏศิลป์ไทยและการแสดงพื้นบ้านจาก 4 ภูมิภาคของประเทศไทย

โดยเป้าหมายของโครงการได้เริ่มต้นที่เด็กและเยาวชนที่สัมผัสใกล้ชิดกับศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยมากที่สุดคือวิทยาลัยนาฏศิลป ผ่านการบ่มเพาะวิชาเรียนนอกสถานที่ เรียนและศึกษาในสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากตำรา เข้าถึงแก่นแท้ของศิลปะการแสดงสาขาต่างๆ จากปราชญ์ชาวบ้าน และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เราได้เดินตามรอยมาตั้งแต่บรรพกาล นอกเหนือจากความรัก ความผูกพันที่ได้จากการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมการแสดงที่สำคัญชาติแล้ว

สิ่งที่ได้กลับมาอีกอย่าง คือ การเกิดเป็นพลังให้แก่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมแต่ละรุ่นมีความฮึกเหิมขึ้นมา กล้าที่จะใช้วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาถ่ายทอดสู่รุ่นน้องต่อๆ ไปสามารถพูดและอธิบายต่อสาธารณชนได้ถึงที่มา ต้นกำเนิดทางวัฒนธรรมการแสดงของไทยอย่างถ่องแท้

ต่อจากนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การแสดงแต่จะต้องมีภูมิความรู้ของการแสดงนั้นๆ ด้วย โดยทางมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้สนับสนุนโครงการเชื่อมั่นว่าเด็กๆ ที่ผ่านโครงการรากเราทุกรุ่นจะเป็นคนที่เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแรงมากมีความภูมิใจในตัวเอง มีความมั่นใจ

นอกจากนี้ยังจะร่วมกันพัฒนาและสร้างเสริมด้านอื่นๆ ต่อๆ ไปเป็นแผนระยะยาวที่คาดหวังไว้และพร้อมจะขยายออกสู่สถานศึกษาทุกระดับเป็นแผนในอนาคตต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น