กาฬสินธุ์ - วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดแสดงหมอลำทำนองกาฬสินธุ์ เผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น ฟื้นฟูสถานะทางเศรษฐกิจของคณะหมอลำ หลังงานหดไม่มีคนว่าจ้าง ขณะที่วงหมอลำดังของเมืองน้ำดำ ระบุปัญหาทะเลาะวิวาทในงานมหรสพเป็นปัญหาใหญ่ เผยต้องปรับตัวลดราคารับงานจาก 150,000 บาท เหลือ 40,000-50,000 บาท
วันนี้ (31 ก.ค.) ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดแสดงหมอลำทำนองกาฬสินธุ์ เพื่อเผยแพร่ และเป็นแนวทางการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของพื้นถิ่น หลังคณะหมอลำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ กำลังก้าวสู่ยุคตกต่ำไม่มีผู้ว่าจ้างงาน รายได้น้อย และบางรายได้เปลี่ยนอาชีพยุบคณะหมอลำไป ขณะที่การสืบสานการร้องหมอลำก็มีสถานการณ์น่าเป็นห่วง เนื่องจากเด็กวัยรุ่นสมัยนี้หลงใหลกับวัฒนธรรมต่างชาติ
นางพรพิมล คงตระกูล วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ช่วงเข้าพรรษาคณะหมอลำหลายวงจะพักวง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่จะมุ่งมั่นทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาเสีย อีกทั้งเจ้าของคณะหมอลำที่ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวชาวนา จะหยุดพักวงเพื่อให้ลูกวงได้ทำนา และเป็นวิถีดั้งเดิมไม่ค่อยมีงานรื่นเริงในช่วงเข้าพรรษา ขณะที่วงหมอลำในรูปแบบแก้บนยังไม่เป็นที่นิยม
“ขณะนี้ได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคณะหมอลำที่ยังประกอบกิจการในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นคณะหมอลำเรื่อง และหมอลำกลอน เป็นหมอลำทำนองกาฬสินธุ์ทั้งหมด 16 คณะ เปิดเวทีให้แสดงโชว์ที่ลานหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจุดของถนนคนเดินทุกวันอังคาร เปิดโอกาสให้วงหมอลำได้แสดงโชว์ประชาสัมพันธ์ตัวเอง โดยทางวัฒนธรรมจังหวัด มีค่าตอบแทนให้ เริ่มการแสดงตั้งแต่ 17.00 น. ถึง 21.00 น. วันละ 2 วง ซึ่งขณะนี้กระแสตอบรับกลับมาดี” นางพรพิมล กล่าว
นายทองสิน เลิศสงคราม หรือสินไชย เพชรโพนทอง พระเอก และเจ้าของคณะหมอลำขวัญใจเพชรโพนทองวัย 52 ปี กล่าวว่า ยุคทองของวงหมอลำทำนองกาฬสินธุ์ที่เฟื่องฟูต้องย้อนไปสัก 5-6 ปี ปีหนึ่งรับงานกัน 100-200 งาน แทบจะไม่ว่าง พักก็ช่วงเข้าพรรษา ราคารับงานอยู่ที่ 150,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับระยะทางว่าใกล้ไกลเพียงใด แตกต่างกับช่วงนี้มากทั้งปีมีงานแสดงแค่ 20-30 งาน และรับในราคาที่ลดลงไม่ถึงครึ่ง บางงานรับกันที่ 40,000-50,000 บาท จากที่ไม่เคยรับก็ต้องรับเพราะต้องปรับตัวไม่ขาดทุน ได้แสดงก็ทำให้หมอลำพออยู่ได้แล้ว อยากให้ภาครัฐเข้ามาส่งเสริมให้เต็มที่
ทั้งนี้ ปัญหาที่ไม่มีคนว่าจ้างอาจจะมาจากวัยรุ่นตีกันหน้าเวทีเกิดขึ้นบ่อย เมื่อเกิดเรื่องขึ้นคณะกรรมการจัดงานก็ต้องยกเลิกการแสดง แต่ต้องจ่ายค่าแสดงเต็มถือว่าไม่คุ้มค่า ส่วนสภาพเศรษฐกิจอาจจะมีส่วนที่ทำให้ผู้ว่าจ้างไม่จ้างหมอลำออกไปแสดง การติดต่องานแสดงปีนี้พอมีแต่ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน ราคาก็ไม่สูง ต้องปรับตัวให้อยู่รอด กรณีมีเงินจ้าง 70,000 บาท ลดกลุ่มแดนเซอร์ลงจาก 30 คน เหลือ 15 คน เวทีจาก 20 เมตร เหลือ 12 เมตร เป็นต้น
ส่วนสาเหตุที่ราคาจ้างคณะหมอลำต้องแพงนั้น ต้องมองดูเรื่องของการลงทุน การฝึกฝน หมอลำต้องมีการซ้อม และฝึกฝน และส่วนใหญ่จะหยิบยกเอานิทานพื้นบ้านอีสานมาเล่าเรื่อง มีนักแสดงทั้งพระเอก นางเอก ตัวอิจฉา และตัวตลก มีนักดนตรี ทั้งหมดต้องฝึกสอนกันใช้เวลามากพอสมควร หรือชุดสวมแสดงหมอลำราคาก็หลักหมื่นบาท