xs
xsm
sm
md
lg

มทร.ตอ.เตรียมจดสิทธิบัตร “ผัดไทย พอดีคำ” หลังคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (เกษตรบางพระ) เตรียมจดสิทธิบัตร “ผัดไทย พอดีคำ” หลังคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Innovation Contest 2015) ที่จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย และ สนง.พัฒนาวิจัยการเกษตร จากการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารโอทอป ด้วยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถถนอมอาหาร และรสชาติได้เป็นอย่างดี ภายใต้เทคนิคการขึ้นรูปส่งกลมจนชนะใจกรรมการ เผยอนาคตอาจผลิตเพื่อส่งออกในภูมิภาคอาเซียน และเตรียมพัฒนาเป็นอาหารฮาลาล

ดร.จตุพร อรุณกมลศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก หรือ มทร.ตอ. (เกษตรบางพระ) เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ฯ สามารถสร้างผลงานทางวิชาการอันยิ่งใหญ่ จนได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Innovation Contest 2015) และรางวัลพิเศษด้านแพกเกจดีไซน์ ที่จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ภายใต้หัวข้อ Innovation of Healthy and Tasty OTOP Food Products for AEC หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารโอทอป สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยการส่ง “ผัดไทย พอดีคำ” เข้าร่วมประกวด

ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสายวิทยาศาสตร์เทคนิคการอาหาร ซึ่งในแต่ละปีผู้ที่เกี่ยวข้องเฝ้ารอเพื่อส่งผลงานเข้าประกวด และในปี 2558 มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมถึง 38 ผลงานจากทั่วประเทศ ซึ่งเหตุผลที่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ฯ เลือกส่งผลงาน “ผัดไทย พอดีคำ” เข้าร่วมประกวดก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ที่มาของธีมงานซึ่งผู้จัดการประกวดได้กำหนดโจทย์ชัดเจนว่า ในปีนี้จะให้ความสำคัญเรื่องการเป็น Innovation of Healthy and Tasty OTOP Food Products for AEC จึงเป็นที่มาของการตีโจทย์ที่ว่า โอทอปในภาคตะวันออก และจังหวัดชลบุรี มีอะไรบ้าง และก่อนหน้านี้ได้มีการคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

แต่สุดท้ายก็ลงตัวที่ผัดไทย เพราะให้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และยังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ที่สำคัญรสชาติแบบไทยๆ ยังสามารถผลิตเพื่อส่งขายในประเทศแถบภูมิภาคอาเซียนได้อย่างสบาย และยังสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลได้อีกด้วย

ดร.จตุพร ยังเผยถึงการต่อยอดผลิตภัณฑ์ “ผัดไทย พอดีคำ” ว่า หลังได้รับรางวัล ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา หรืออนุสิทธิบัตร เพราะเป็นผลงานที่เกิดจากการทุ่มเทแรงกาย แรงใจของทั้งนักศึกษา และอาจารย์ จนสามารถพัฒนาสูตรอาหารด้วยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์จนเป็นที่ยอมรับ และเหตุผลอีกประการคือ มหาวิทยาลัยฯ มีแนวคิดที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อส่งออก

“แต่เนื่องจากขณะนี้ห้องแล็บของมหาวิทยาลัยฯ สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้ในระดับโรงงานขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งหากจะต้องผลิตขายจำนวนมากก็อาจต้องมีการว่าจ้างบริษัทเอกชนให้เป็นผู้ผลิต แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ ยังไม่เน้นหนักไม่ในทางใดทางหนึ่ง แต่ให้ความสำคัญที่การจดสิทธิบัตรมากกว่า

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ก็เริ่มมีภาคเอกชนด้านอาหารรายใหญ่หลายรายติดต่อขอซื้อผลิตภัฑณ์เพื่อนำไปจำหน่ายแล้ว ทั้งในรูปแบบของการซื้อยกผลิตภัณฑ์ทั้งหมด หรือให้เราเป็นผู้ผลิตแล้วเขาเป็นผู้จำหน่าย บางบริษัทติดต่อเข้ามาเพื่อขอเทคนิคการผลิต หรือแม้แต่การนำตัวผลิตภัณฑ์ไปผลิตเองก็มี”

สำหรับจุดเด่นของ “ผัดไทย พอดีคำ” อยู่ที่การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ให้เป็นทรงกลมจากการประยุกต์ใช้เตาโทโกะยากิ ผสมผสานเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถเก็บน้ำซอสไว้ในตัวเส้นที่ถูกห่อหุ้มด้วยไข่ได้เป็นอย่างดี

โดยการแข่งขันในครั้งนี้ นักศึกษใช้ชื่อทีม Sphere ซึ่งมีที่มาคือการใช้เทคนิคขึ้นรูปผลิตจนมีรูปร่างเป็นทรงกลม ผู้ร่วมทีมประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ มาลัย น.ส.นวัชวรรณ คลองสติ น.ส.ปิยรัตน์ บุญเลิศ น.ส.สุดารัตน์ เมืองห้าว ส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการประกอบด้วย ดร.วิริยา นิตธีรานนท์ ดร.จตุพร อุรณกมลศรี ผศ.ดร.ตวงสิริ สยมภาค

“เราเพิ่งส่งนักศึกษาเข้าประกวดรายการนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้านั้นเราก็ได้ไปดูการประกวดมา เห็นว่านักศึกษาที่ออกไปนำเสนอผลงานค่อนข้างเก่งมาก เมื่อกลับมาที่มหาวิทยาลัยฯ ก็คิดว่าในปีนี้เราควรลองส่งเข้าประกวดบ้าง ก็เริ่มฝึกนักศึกษาตั้งแต่การนำเสนอผลงาน และเริ่มทดลองทำผลงานจนได้สูตรที่พอใจ จากนั้นจึงส่งผลงานเข้าสู่รอบคัดเลือกในรอบแรก เมื่อผ่านรอบคัดเลือกก็เริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับการวัดคุณภาพผลิตภัณฑ์ ระยะเวลาการเก็บรักษา ฯลฯ”

“ทั้งนี้ เป้าหมายในการผลิตนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ฯ คือ การสร้างบัณฑิตผู้ผลิต และเป็นนักปฏิบัติ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ จะมุ่งสอนให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ สามารถผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เพื่อพัฒนาผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีต่อไป” ดร.จตุพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น