กาญจนบุรี - รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมชลประทาน เยี่ยมโครงการพัฒนาการเกษตร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ ปชช.จัดรูปที่ดิน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (14 ส.ค.) นายณรงค์ ลีลานนท์ รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมชลประทาน พร้อมคณะไปเยี่ยมเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเกษตร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ที่ศาลาประชาคม หมู่ 2 ต.รางสาลี่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โดยมี นายอเนก บ่อพลอย นายก อบต.รางสาลี่ นายวัฒนา สีรี ประธานคณะทำงานโครงการ รวมทั้งเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ตำบลรางสาลี่ ให้การต้อนรับ
จากนั้นคณะทั้งหมดได้ร่วมเดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่เรียนรู้การพัฒนาเกษตรยั่งยืน ในเขตจัดรูปที่ดินซึ่งเป็น 1 ใน 4 พื้นที่โครงการพัฒนาการเกษตร และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
นายณรงค์ กล่าวว่า โครงการมีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2559 จำแนกพื้นที่การทำงานออกเป็น 2 โครงการ รวม 4 จังหวัด คือ โครงการจัดรูปที่ดินแปลงตัวอย่าง 2 จังหวัด ประกอบด้วย จ.พิษณุโลก และ จ.ศรีษะเกษ และโครงการนำร่องพัฒนาการเกษตร 2 จังหวัด คือ จ.มหาสารคาม และ จ.กาญจนบุรี สำหรับโครงการใน จ.กาญจนบุรี ที่หมู่ 2 และ 8 ต.รางสาลี่ รวมพื้นที่ 1,020 ไร่ 401 ครัวเรือน ประชากรรวม 1,369 คน
โดยโครงการมีปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งการมีส่วนร่วมนี้จะเป็นแกนหลักที่นำมาใช้ในการดำเนินโครงการ ไม่เพียงแต่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ รู้สึกหวงแหนรู้สึกเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน และร่วมกันวางแผนงานในการพัฒนาให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งได้ตามบริบทของตนเองแล้ว
ยังสามารถสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเอง และระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ ก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริงในด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำ การเกษตร การบำรุงดิน และอื่นๆ เกิดการรวมตัวเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้วยตนเอง และสร้างเครือข่ายเรียนรู้สู่ชุมชนอื่นได้อีกด้วย
นายธนกิจ ศรีบุญมา เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ และคณะกรรมการพัฒนาพัฒนาเกษตรยั่งยืนในเขตจัดรูปที่ดิน กล่าวว่า ประชาชนในตำบลรางสาลี่ ส่วนใหญ่มีอาชีพทำทำนา แต่ที่ผ่านมา เกิดความแห้งแล้ง เมื่อมีโครงการดังกล่าวเข้ามาตนจึงนำที่นาที่มีอยู่ประมาณ 7 ไร่ มาเข้าร่วมโครงการด้วยการหันไปปลูกดีปลี ชาวบ้านบางรายเริ่มประสบความสำเร็จบ้างแล้ว เพราะดีปลีเป็นพืชไร่ที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งการปลูกดีปลีหากขึ้นเต็มหลัก และไม่มีเพลี้ยแป้งมาระบาด จะมีรายได้ไร่ละประมาณ 3 หมื่นบาท
ด้าน นายอเนก บ่อพลอย นายก อบต.รางสาลี่ กล่าวว่า พื้นที่ในโครงการมีทั้งหมด 1,020 ไร่ ครอบคลุมหมู่ 2 และ 8 สำหรับน้ำที่นำมาใช้ในโครงการ กรมชลประทานได้ติดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำแควน้อย ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร โดยพื้นที่ในโครงการจะมีคูน้ำคู่ขนานไปกับถนน ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะช่วยกันบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งช่วยกันออกค่าใช้จ่าย คือ ค่าไฟฟ้าชั่วโมงละประมาณ 80 บาท สำหรับประโยชน์ในพื้นที่โครงการ มีทั้งแปลงที่นา แปลงพืชผสมผสาน รวมทั้งแปลงดีปลี ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างดี