xs
xsm
sm
md
lg

ทหารลงพื้นที่ตรวจสอบเจาะบาดาลแก้ภัยแล้งที่กาฬสินธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รุดตรวจสอบโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลแก้ภัยแล้ง ที่ต.หนองกุม อ.เมืองกาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ - กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกาฬสินธุ์ ศูนย์ดำรงธรรมกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4 ขอนแก่น สำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ รุดตรวจสอบโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลแก้ภัยแล้ง งบ 14.4 ล้านบาท เผยวางมาตรการตรวจเข้มทั้งโครงสร้าง ความลึกทุกบ่อ ก่อนให้ผู้รับเหมาเบิกเงิน

จากกรณีสมาชิกผู้ปลูกมันสำปะหลังตำบลหนองกุง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบโครงการบ่อบาดาลแก้ภัยแล้ง ตามโครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตมันสำปะหลัง ปี 2558 งบประมาณ 14,400,000 บาท ของสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ บนพื้นที่บ้านโนนสง่า ม.3 ตำบลหนองกุง ของ นายนิรันต์ ปรีสันต์ ที่เพิ่งเจาะแล้วเสร็จช่วงกลางเดือนกรกฎาคม แต่เมื่อเริ่มใช้น้ำปรากฏว่า น้ำมีไม่เพียงพอ และบางครั้งน้ำออกสนิม จึงได้ตรวจวัดขนาดความลึกจนพบความผิดปกติหลายจุดในการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน

ล่าสุด วันนี้ (8 ส.ค.) พ.อ.ณัฏฐาภูมิ นิกร รองเสธนาธิการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ พ.ท.กฤติพงศ์ สมุทรสาคร หัวหน้าฝ่ายยุทธการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ นายพงษ์ศักดิ์ ชินศีรี หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ นายสฤษดิ์ รัชพันธ์ นักธรณีวิทยาปฏิบัติการ สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลภาค 4 ขอนแก่น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ และผู้นำท้องถิ่นลงพื้นที่ตรวจสอบการขุดเจาะบ่อบาดาลพื้นที่บ้านโนนสง่า ม.3 ตำบลหนองกุง ของนายนิรันต์ ปรีสันต์

จากการตรวจสอบบ่อดังกล่าวผู้รับเหมาได้ขุดเจาะเสร็จแล้ว วัดความลึกได้ประมาณ 47 เมตร และอยู่ระหว่างติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งต่อไปเจ้าหน้าที่จะเน้นตรวจสอบโครงสร้าง ทั้งการติดตั้งเครื่องสูบน้ำซัมเมิร์ส แท่นตั้ง ถังเก็บน้ำ และการเดินท่อลงสู่แปลงมัน

ทั้งนี้ เกษตรกรได้เรียกร้องให้ผู้รับเหมาเพิ่มความลึกขุดเจาะลงไปให้ลึกประมาณ 65 เมตร เพราะเกรงว่าช่วงหน้าแล้งจะไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ ทั้งต้องการให้ตั้งกลุ่มสมาชิกผู้ใช้น้ำ และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการดำเนินงานทุกขั้นตอนของผู้รับเหมา โดยเฉพาะการตรวจรับงานของคณะกรรมการ จะต้องตรวจสอบคุณภาพทุกอย่างก่อนจะให้ผู้รับเหมาเบิกเงิน เพื่อให้บ่อบาดาลเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร

สำหรับการเข้าตรวจสอบครั้งนี้ เป็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ต้องการให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบการขุดเจาะบ่อบาดาล และติดตั้งอุปกรณ์ ควบคู่ไปกับคณะกรรมการตรวจรับงาน

โดยเน้นตรวจสอบไปที่โครงสร้าง และความลึกการขุดเจาะเฉลี่ย 40-100 เมตร ต่อผู้รับเหมาดำเนินการเสร็จแล้วในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ และอำเภออื่นๆ ตามแบบและสัญญาจ้างของสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ เพื่อให้โครงการขุดเจาะบ่อบาดาลรวมทั้งหมด 50 บ่อ ได้มาตรฐานสามารถเพิ่มผลผลิตแก้ภัยแล้ง เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น