ศูนย์ข่าวศรีราชา - สภาเมืองพัทยา ตีกรอบเบิกจ่ายงบพัฒนาโรงพยาบาล ชี้บ้านเมืองต้องพัฒนาหลายด้าน หลังที่ผ่านมา ต้องพิจารณาผ่านงบรายจ่ายประจำปีจำนวนมาก ส่งผลให้แผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานชะงัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ฝ่ายบริหารได้นำเสนอโครงการของสำนักยุทธศาสตร์และงบประมาณ ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการขออนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 ประ จำปี 2557 ไปตั้งเป็นรายใหม่ แผนงานบริหารทั่วไป งบลงทุนหมวดค่าคุรุภัณฑ์ โครงการปรับปรุงฐานข้อมูล และระบบสารสนเทศเมืองพัทยา เป็นเงิน 29 ล้านบาท
โดยแยกเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบควบคุมและบริหารจัดการกล้องวงจรปิด 17.8 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารหอพักแพทย์ 17 ล้านบาท ปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารที่จอดรถโรงพยาบาลเมืองพัทยา 6.4 ล้านบาท และจัดซื้อคุรุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ 1.1 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเสนอขออนุมัติเปลี่ยนแปลงคำชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เพื่อจัดซื้อคุรุภัณฑ์วิทยาศาสตร์แผนกห้องปฏิบัติการส่วนธนาคารเลือด ประจำโรงพยาบาลเมืองพัทยา 9 รายการ ในงบประมาณ 15.30 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพเมืองพัทยา ตามมาตรฐานโรงพยาบาลระดับ 2.6 ที่สามารถรองรับการรักษาพยาบาลได้อย่างเต็มรูปแบบ
กรณีดังกล่าว สมาชิกสภาเมืองพัทยากล่าวอภิปรายในที่ประชุมว่า ระบบสาธารณสุขและสุขอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงขีวิตที่เมืองพัทยาให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีมาหลายวาระ พบว่า งบประมาณจำนวนมากได้จัดสรรเพื่อลงไปดำเนินการในส่วนของการพัฒนา และเสริมศักยภาพให้แก่โรงพยาบาลเมืองพัทยามาอย่างต่อเนื่องในงบประมาณจำนวนมหาศาล จึงเห็นควรให้ผู้เกี่ยวข้องตีกรอบของงานโดยเฉพาะด้านของจัดซื้อคุรุภัณฑ์ หรือเสริมศักยภาพในส่วนที่จำเป็นที่ใช้ในการรองรับ
เนื่องจากการพัฒนาเมืองพัทยานั้นคงไม่ได้มีแต่ในส่วนของโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีการพัฒนาอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักสาธารณสุขชี้แจงว่า การดำเนินการทั้งหมดก็เพื่อพัฒนาขีดความสามารถตามการร้องขอของคณะแพทย์ และตามหลักเกณฑ์ของระดับมาตรฐานโรงพยาบาลขนาด 2.3 นอกจากนี้ โรงพยาบาลเมืองพัทยา ยังมีการพัฒนาเพิ่มในส่วนของแผนกพิเศษ เช่น ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์ไตเทียม และศัลยกรรมกระดูกเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการรักษาได้อย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการสูง อย่างไรก็ตาม แผนงานในอนาคตจะมีการเสนอขอจัดสรรงบประมาณโดยตรงจากส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้การใช้งบประมาณของท้องถิ่นลดจำนวนลง และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนางานด้านอื่นๆ ได้ต่อไป