ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง ชลบุรี กำลังเนื้อหอมในสายตาผู้ประกอบการท่าเรือต่างชาติ หลังที่ผ่านมา ได้ทำสัญญาร่วมเป็นท่าเรือพี่-น้อง หรือ Sister Port ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร การประชาสัมพันธ์ และข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งเทคโนโลยีในการยกระดับการขนส่งสินค้าร่วมกันกับท่าเรือในจีน และญี่ปุ่นจนประสบผลสำเร็จ ล่าสุด กลุ่มผู้ประกอบการรัสเซียดอดชวนร่วมเป็นท่าเรือพี่-น้อง เพิ่มศักยภาพขนถ่ายสินค้าโซนยุโรป
ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เปิดเผยถึงความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพการขนส่งสินค้าทางน้ำของท่าเรือแหลมฉบัง ว่า ในวันนี้ท่าเรือแห่งนี้ไม่ใช่จะเป็นเพียงแหล่งเผยแพร่ความรู้ด้านการขนส่งสินค้า รวมทั้งแหล่งพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อใช้ภายในพื้นที่ ลดต้นทุนด้านพลังงานให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้แก่ผู้ประกอบการท่าเรือในหลายชาติ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ยังมีโอกาสได้ให้การต้อนรับคณะทูต และผู้ประกอบการท่าเรือจากประเทศเคนยา อินโดนีเซีย และรัสเซีย ที่เข้าศึกษาข้อมูลด้านการขนส่งสินค้า และข้อมูลด้านการพัฒนท่าเรือ
“ที่น่าสนใจก็คือ ขณะนี้ในส่วนของประเทศรัสเซีย ได้เชิญชวนให้เราร่วมเป็นท่าเรือพี่-น้อง หรือ Sister Port กับเขา ซึ่งเราก็เห็นว่าน่าสนใจ เพราะประเทศรัสเซีย มีศักยภาพทางการตลาด และการส่งสินค้าจากไทยไปจำหน่ายค่อนข้างมาก เราจึงมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะร่วมเป็นท่าเรือพี่-น้อง ระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง กับท่าเรือในกรุงมอสโก ค่อนข้างสูง โดยที่ผ่านมา เราได้ลงนามกับท่าเรือเซินเจิ้น ของประเทศจีน และท่าเรือในเมืองคิตะคิวชู ซึ่งอยู่ในเกาะทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น จนประสบความสำเร็จมาแล้ว”
ร.อ.สุทธินันท์ บอกว่า จุดเด่นของการร่วมเป็นท่าเรือพี่-น้อง อยู่ที่การให้ความช่วยเหลือระหว่างกันทั้งในด้านการสนับสนุน การส่งเสริม และการประชาสัมพันธ์การขนส่งสินค้าทางน้ำให้แก่สายการเดินเรือต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าท่าเรือนั้นๆ มีความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากนั้น ยังจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ ในการอำนวยความสะดวกให้แก่สายการเดินเรือที่เข้าใช้บริการระหว่างท่าเรือที่ทำข้อตกลงร่วมกัน
โดยพยายามหลีกเลี่ยงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสำคัญทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบัง มีนโยบายที่ชัดเจนในการไม่สร้างภาระผูกพันให้แก่ประเทศ แต่จะมุ่งเน้นการสนับสนุนข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพการขนส่งสินค้าทางน้ำระหว่างกันเท่านั้น
“ประเด็นหลักของการเป็นท่าเรือพี่-น้อง อยู่ที่การพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 ท่าเรือให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน นอกจากนั้น ยังร่วมกันดูทิศทางตลาดในแง่การประชาสัมพันธ์ให้สายการเดินเรือได้รับรู้ โดยจะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวต่อผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งหลังจากนี้ไปเราก็จะต้องไปศึกษาข้อมูลต่างๆ ของท่าเรือในประเทศรัสเซียเช่นกัน และหากได้ข้อสรุปในทางที่ดีก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าได้โซนยุโรปได้” ร.อ.สุทธินันท์ กล่าว