ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รมว.พลังงาน ตรวจความพร้อมโรงไฟฟ้าฟ้าจะนะ หลังแหล่งผลิตดก๊าซ JDA จะปิดปรับปรุงประจำปี 21-25 ก.ค.นี้ ยันมีไฟฟ้าเพียงพอเกินกว่าความต้องการสูงสุดของภาคใต้ การันตีไร้ปัญหาไฟตก-ดับ
วันนี้ (18 ก.ค.) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่โรงไฟฟ้าจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อตรวจสอบความพร้อมด้านการผลิตไฟฟ้า และเชื้อเพลิงในกระบวรการผลิต เนื่องแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ซึ่งส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าจะนะ จะทำการปิดซ่อมบำรุงประจำปีในระหว่างวันที่ 21-25 ก.ค.นี้
นายณรงค์ชัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคใต้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้ารวม 3,115 เมกะวัตต์ โดยเกือบครึ่งหนึ่งผลิตมาจากโรงไฟฟ้าจะนะ จำนวน 1,476 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA เป็นเชื้อเพลิงประมาณวันละ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยในระหว่างที่แหล่ง JDA ปิดซ่อมบำรุงประจำปี ทางกระทรวงพลังงาน จึงได้ร่วมกับการฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วางมาตรการรับมือการจัดการไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว
สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ มีชุดผลิตไฟฟ้าอยู่ 2 ชุด โดยชุดที่ 1 จะใช้น้ำมันดีเซลทดแทนก๊าชธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้สามารถกู้การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าจะนะคืนมาได้ 655 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 1,476 เมกะวัตต์ ส่วนชุดที่ 2 จะหยุดเดินเครื่องชั่วคราว เนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล โดยขณะนี้ได้มีการสำรองน้ำมันดีเซล 20.8 ล้านลิตร เพื่อให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลที่โรงไฟฟ้าจะนะได้อย่างต่อเนื่องประมาณ 10 วัน
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้โรงไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งหมดในภาคใต้ ทั้งโรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา โรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ จ.สุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกภาคเอกชน ซึ่งมีกำลังผลิตรวมกันประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ เตรียมความพร้อมเดินเครื่องเต็มกำลังทุกหน่วย และงดการหยุดซ่อมบำรุงใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งได้ประสานไปยังโรงไฟฟ้าดีเซลในค่ายทหาร เพื่อเดินเครื่องเข้ามาเติมเต็มไฟฟ้าในระบบอีกประมาณ 26 เมกะวัตต์
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ในระหว่างแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ JDA ปิดปรับปรุง ทำให้ในพื้นที่ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าได้เพียง 2,203 เมกะวัตต์เท่านั้น ขณะที่ความต้องการสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 2,350 เมกะวัตต์ โดยในส่วนที่ขาดจะมีการส่งไฟฟ้าจากพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 600 เมกะวัตต์ไปทดแทน ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมระบบสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางมายังภาคใต้เสร็จสมบูรณแล้ว 100% นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการสำรองไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินอีก 30 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 2,833 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของพื้นที่ภาคใต้ โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้า หรือเกิดเหตุการณ์ไฟตกไฟดับอย่างแน่นอน